ฉลากแสดง “water footprint” เป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค (supply chain) สินค้าที่มี water footprint น้อยย่อมได้รับความสนใจมากกว่าสินค้าที่มี water footprint มากเพราะมีการใช้น้ำ (consumption) และทำให้น้ำสกปรก (pollution) น้อยกว่า
๑ แนวความคิดเรื่อง water footprint เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.๒๐๐๒ โดยศาสตราจารย์ Arjen Y.Hoekstra แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการคำนวณ water footprint นอกจากทำให้เห็นภาพปริมาณการใช้น้ำที่ซ่อนเร้นอยู่ในการผลิตสินค้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาประเมินผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการค้าต่อการใช้ทรัพยากรน้ำได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลภาวะทางน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตสินค้าและ supply chain ทั้งระบบ
ตัวอย่างการคำนวณ water footprint เช่น ในการผลิตมะเขือเทศ ๑ ก.ก.จะต้องใช้น้ำทั้งหมด 1๑ ลิตร, น้ำตาล ๑ ก.ก.ใช้น้ำ ๑,๕๐๐ ลิตร, ข้าว ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๓,๔๐๐ ลิตร, เนื้อไก่ ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๓,๙๐๐ ลิตร, เนื้อวัว ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๑๕,๕๐๐ ลิตร, กาแฟ ๑ ถ้วย ใช้น้ำ ๑๔๐ ลิตร และแฮมเบอร์เกอร์ ๑ ชิ้น ใช้น้ำ ๒,๔๐๐ ลิตร เป็นต้น
๒. ประโยชน์ของ water footprint การมีข้อมูล water footprint ที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น
๒.๑ สำหรับผู้ผลิต การนำกลยุทธ์ลด water footprint มาใช้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างจุดแข็งให้กับบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ เพราะแสดงว่าคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม การลด water footprint ในการผลิตสินค้ายังช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาขาดแคลนน้ำซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ภาครัฐออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับ water footprint ในอนาคต
๒.๒ สำหรับผู้บริโภค การระบุข้อมูล water footprint บนฉลากสินค้าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด โดยผู้บริโภคอาจหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มี water footprint น้อยแทนสินค้าที่มี water footprint มาก (เช่น กินเนื้อสัตว์ลดลงแล้วหันมาทานผักเพิ่มขึ้น[1] ดื่มน้ำหรือน้ำชาแทนกาแฟ เป็นต้น) หรือ ผู้บริโภคอาจเลือกซื้อสินค้าแบบเดิมแต่เลือกจากแหล่งผลิตหรือวิธีการผลิตที่มี water footprint ต่ำกว่าแทน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปในสู่ทางเลือกของสินค้าที่มี water footprint ต่ำ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของโลกและนำไปสู่แนวทางการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น
๓. การวางแผนการจัดการน้ำ (water management) ประเทศต่างๆ มักวางแผนการจัดการน้ำแค่เพียงในระดับประเทศเท่านั้น แต่ขาดการวางแผนในเชิงมิติระดับโลก (global dimension) โดยพยายามลดความต้องการใช้น้ำภายในประเทศและยึดความยั่งยืนของการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้น้ำมาก (water-intensive products) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยปราศจากการคำนึงถึงว่าสินค้าที่นำเข้านั้นจะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมหรือมลภาวะทางน้ำต่อประเทศผู้ผลิตอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการผลักภาระ water footprint ออกไปนอกประเทศ ทำให้แรงกดดันด้านทรัพยากรน้ำไปตกอยู่กับประเทศผู้ส่งออกซึ่งมักเป็นประเทศที่ยังขาดกลไกในการจัดการและอนุรักษ์น้ำ อนึ่ง การจัดทำบัญชี National water footprint ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของสถิติที่เกี่ยวกับน้ำในระดับประเทศ (National water statistic) และใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนจัดการน้ำหรือบริเวณลุ่มน้ำทั้งหลาย (river basins) รวมถึงการมีข้อมูล water footprint ที่ถูกต้องยังช่วยให้เกษตรกรและผู้วางนโยบายของประเทศสามารถตัดสินใจได้ว่าควรเพาะปลูกพืชที่ต้องการใช้น้ำมากในบริเวณใดมากกว่า ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การคำนวณ water footprint ยังสามารถนำมาใช้ต่อรองราคาการให้บริการด้านสภาพแวดล้อม (ecological services) ของสินค้าแต่ละชนิด และสามารถใช้เป็นดรรชนีชี้วัดความยั่งยืน (sustainability indicator) ที่ใช้ในการกำหนดนโยบายการค้าและการลงทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ในเรื่องนี้ สำนักงานฯ ขอเรียนข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ก) น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการใช้น้ำกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนประชากรและความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำสะอาดสำหรับผลิตอาหารและพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๙๐ เมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำสะอาดทั้งหมดของโลก แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำสะอาดที่มีอยู่ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางน้ำที่เกิดจากมนุษย์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปัญหาขาดแคลนน้ำทวีรุนแรงมากขึ้นในหลายส่วนของโลก ดังนั้น การใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งทางตรงและทางอ้อมและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบปฏิบัติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ข) ฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาการผลิตสินค้าไปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นการแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ฉลากสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่รู้จัก เช่น ฉลากแสดงระยะทางขนส่ง (Food Miles Label) และฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint) เป็นต้น สำหรับ “ฉลากแสดงร่อยรอยของการใช้น้ำ” หรือ “water footprint” ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะกลายเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต การแสดง water footprint บนฉลากสินค้า ในแง่หนึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้การผลิตสินค้ามีการใช้น้ำและมีน้ำเสียลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทรัพยากรน้ำของโลก ในอีกแง่หนึ่งภาคธุรกิจอาจใช้ water footprint เป็นเครื่องมือในการสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าหรือบริษัทว่ามีการคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้นและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (value added)
ค) การประเมินผลกระทบของ water footprint นอกจากต้องดูจากปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้าแล้ว (เช่น มะเขือเทศที่ปลูกในฝรั่งเศส สเปนและอิตาลีมี water footprint เท่ากับ ๔๔, ๕๓ และ ๑๐๖ ลูกบาศก์เมตร/ตัน[2] เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน) ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำ (source of water) ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น “blue water” (น้ำใต้ดิน น้ำผิวดินและน้ำที่มาจากการชลประทาน, “green water” (ปริมาณน้ำฝนที่ระเหยในกระบวนการผลิต) และ “gray water” (ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น) จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าการผลิตสินค้าในแต่ละแห่งมีผลกระทบต่อการใช้น้ำแตกต่างกันอย่างไร
ง) การลด water footprint น่าจะถูกจัดให้เป็นเป้าหมายหนึ่งทั้งในระดับประเทศ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยภาครัฐควรส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสนับสนุนสินค้านำเข้าที่ผนวกเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้น้ำเข้าไว้ด้วย ภาคธุรกิจควรพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำให้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการทำลายสภาพแวดล้อม ส่วนผู้บริโภคสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ลดการใช้น้ำโดยตรง ลดการทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่าและลดการบริโภคสินค้าที่ต้องใช้น้ำมาก เป็นต้น
จ) ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของยุโรป ทำให้ EU ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การนำฉลาก water footprint มาใช้จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการผลิตสินค้าโดยใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด อย่างไรก็ดี water footprint จะเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายในระดับ EU หรือไม่นั้น ในระยะสั้นแล้วอาจมีโอกาสความเป็นไปได้ต่ำ เพราะ EU ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง ซึ่งเท่ากับว่า EU จะถูกโจมตีว่าเป็นตัวการสำคัญในการผลักภาระการใช้น้ำไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้ วิธีการคำนวณ water footprint ในปัจจุบัน ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะบ่งบอกถึงผลกระทบจากการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หาก EU จะนำ water footprint มาเป็นมาตรฐานวัดความมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของสินค้าที่นำเข้า จึงจำเป็นต้องรวมเอาตัวแปรสิ่งแวดล้อมน้ำ (water environment) ของแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วย ซึ่งข้อมูล water footprint ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ จึงยากที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายระดับ EU แต่ทว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ภาคเอกชนอาจส่งเสริมการติดฉลาก water footprint เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะผู้บริโภคใน EU ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
ฉ) สำหรับประเทศไทย ข้าวและเนื้อไก่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าที่ต้องใช้น้ำมากในการผลิตและมี water foodprint สูง (เท่ากับ ๓,๔๐๐ ลิตร และ ๓,๙๐๐ ลิตรต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) การพัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่อให้สินค้าเศรษฐกิจทั้งสองชนิดนี้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสียน้ำในระหว่างกระบวนการผลิตและลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตต่อหน่วยให้เพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถรักษาศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการผลิตที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น