วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์2

3. บทนิยาม (Terms and Definitions)
3.1 การเก็บกักคาร์บอน (Carbon storage)
การเก็บกักคาร์บอนโดยกระบวนการทางชีวภาพหรือที่มีอยู่ในอากาศ ให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่ใช่ก๊าซที่พบในชั้นบรรยากาศ
3.2 การชดเชย (Offsetting)
การนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการประเมินมาหักลบ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ
เรือนกระจกของผลิตภัณฑ์
3.3 การปันส่วน (Allocation)
การแบ่งส่วนปริมาณสารขาเข้า และ/หรือสารขาออก ของกระบวนการหรือระบบของผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาไปยังผลิตภัณฑ์เป้าหมายและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของผลิตภัณฑ์
3.4 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง
3.5 การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Removal)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง

3.6 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงต้นน้ำ (Upstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงก่อนเข้าสู่วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตขององค์กรที่ทำการวัดคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์
3.7 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงปลายน้ำ (Downstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมายซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากผลิตภัณฑ์ถูกจำหน่ายออกจากองค์กรที่ทำการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
3.8 ขอบเขตของระบบ (System boundary)
ขอบเขตของกระบวนการที่อยู่ภายใต้ระบบของผลิตภัณฑ์ที่จะทำการพิจารณา
3.9 ข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product category rules: PCRs)
กฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่ถูกกำหนดขึ้นตามแนวทางในการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (Type III environmental declarations)และมีความเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์
3.10 ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data)
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดกิจกรรมการผลิตในโรงงานหรือองค์กร หรือกิจกรรมการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือที่องค์กรมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล

3.11 ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data)
ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลอื่นนอกเหนือข้อมูลปฐมภูมิ
3.12 ชีวมวล (Biomass)
วัตถุที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต แต่ไม่รวมถึงวัตถุที่ถูกทับถมจนเป็นฟอสซิลหรือมีต้นกำเนิดจากฟอสซิล
3.13 ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide Equivalent, CO2e)
ค่าแสดงความสามารถในการทำให้โลกร้อนเมื่อเทียบในรูปปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคำนวณได้จากมวลของก๊าซเรือนกระจกคูณด้วยค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3.14 ศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP)
ค่าศักยภาพของก๊าซเรือนกระจกในการทำให้โลกร้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ โดยคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
3.15 ไบโอเจนิก (Biogenic)
สารที่มาจากชีวมวล แต่ยังไม่เป็นฟอสซิลหรือมาจากฟอสซิล
3.16 สินค้าทุน (Capital goods)
เครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

3.17 ผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product)
ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเดียวกัน และมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์
3.18 หน่วยการทำงาน (Functional Unit)
หน่วยการทำงานของผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้ในการกำหนดขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลสารขาเข้าและสารขาออกจากระบบผลิตภัณฑ์
3.19 หน่วยผลิตภัณฑ์ (Product Unit)
หน่วยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจกำหนดแยกตามน้ำหนัก ปริมาตรหรือขนาดบรรจุ จำนวนย่อยพื้นที่ หรือตามรูปแบบที่วางจำหน่ายอื่นๆ
3.20 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ (Material contribution)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต
3.21 การตัดออก (Cut off)
การไม่นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากระบบมาใช้ในการคำนวณหรือประเมิน

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์1

      1. ขอบเขต (Scope)  
      แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ฉบับนี้ได้กำหนดวิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยใช้หลักการประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life cycle assessment: LCA) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดเศษซากหลังการใช้งาน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Cradle to Grave) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงสิ้นสุดกระบวนการผลิตในโรงงาน (Cradle to Gate) ได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์สามารถใช้บ่งชี้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เฉพาะประเด็นด้านการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเท่านั้น ไม่ได้นำผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity) การเกิดฝนกรด (Acidification) ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (Eutrophication) ความเป็นพิษ (Toxicity) เป็นต้น มาประเมินร่วมด้วย

การกำหนดแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในครั้งนี้ เป็นการจัดทำเกณฑ์ (Criteria) กลางสำหรับใช้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับทุกผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการฯ ได้มีการจัดทำข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product Category Rules:PCRs) เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีการกำหนด PCRs ไว้ ก็สามารถนำ PCRs ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐาน ISO14025 มาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้

2. เอกสารอ้างอิง (Normative References)

ISO 14025:2006, Environmental labels and declarations -- Type III environmental declarations -- Principles and procedures.
ISO 14040:2006, Environmental management -- Life cycle assessment -- Principles and framework.
ISO 14044:2006, Environmental management -- Life cycle assessment -- Requirements and guidelines.
ISO 14064-1:2006, Greenhouse gases -- Part 1: Specification with guidance at the organization level for quantification and reporting of greenhouse gas emissions and removals.
ISO/CD 14067.2: 2011, Requirements and guidelines for quantification and communication
Japanese Technical Specification “General principles for the assessment and labeling of Carbon Footprint of products”, (Japan,2009)
PAS 2050:2008, Specification for the assessment of the lifecycle greenhouse gas emissions of goods and services

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

         แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
      การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้พลังงาน การเกษตรกรรมการพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่งการตัดไม้ ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมรวมถึงภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและของโลก

        การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากรูปแบบและวิถีการบริโภคของตน และยังเป็นกลไกทางการตลาดในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ดังนั้น การทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากหลังใช้งาน พร้อมทั้งมีการแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า และกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
            
       การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายประเทศได้นำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักรสาธารณรัฐฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเกาหลี เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยบางรายการถูกร้องขอให้มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย นอกจากนี้ หากไทยมีการดำเนินโครงการและจัดเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน
ก็จะช่วยให้มีข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ประกอบการเจรจาต่อรองในการประชุมระดับโลก เพื่อกำหนดแนวทางแก้ ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้มากขึ้นด้วย

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

20 วิธีใช้ถุงพลาสติกซ้ำ (เป็นอย่างน้อย)

เคยอ่านเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกจากป้าแตงนะคะ (หัวเรื่องว่า “ขอไม่รับถุงจ้ะป้า”)  แต่ไอ้ถุงพลาสติกในบ้านที่มันมีอยู่แล้วมันก็เยอะมากกกกกกกกกกกเลยค่ะ  พยายามใช้แล้ว ใช้ซ้ำ  ทีนี้อยากจะขอไอเดียการนำกลับมาใช้ใหม่บ้างว่า เราจะสามารถแปรรูปไอ้ถุงพลาสติกพวกนี้ไปทำอย่างอื่นได้อีกมั้ยคะ
                              ขอบคุณค่ะ
                            น้องกิ๊กกรู้ววว, ,, (ทางอีเมล)
หนูกิ๊กกรู้ววว, ,, จ๋า (ต้องใช้วิธี copy มา paste นะนี่ กลัวสะกดผิด)
โอ้โห ดีใจที่ได้เจอแฟนคอลัมน์อย่างหนูกิ๊กฯ (ตกลงเรียกย่อๆ ดีกว่านะ)
ตามเหตุผลที่เล่าไว้ใน “ขอไม่รับถุงจ้ะป้า” ที่น้องกิ๊กกรู้ววว, ,, อ้างอิงถึง ความตั้งใจหลักของเราอยู่ที่การรับถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด  หรือถ้าวันๆ นึงไม่รับได้เลย ยิ่งดีใหญ่
  
ส่วนถุงเยอะมากกกที่มีอยู่ในบ้านเรือน ย่อมถือเป็นประวัติศาสตร์ผสมเครื่องเตือนใจให้เราทำวันนี้ให้ดีกว่าเดิม ด้วยการพกพาเพื่อนแท้อย่างปิ่นโต กล่องใส่อาหาร กระติกน้ำ กระบอกสแตนเลสใส่กาแฟ ถุงผ้า และอื่นๆ ที่เรามีแก่ใจพาไปไหนๆ ด้วย ทั้งใกล้ไกล
    
ถึงอย่างนั้น ถุงพลาสติกแฝงตัวก็ย่อมติดมาถึงบ้านเราอีกไม่น้อย เช่น ถุงใส่ขนมปัง โดยเฉพาะแบบแยกชิ้น ถุงใส่ผลไม้ที่แยกขายเป็นกิโล และอื่นๆ ที่บรรจุสินค้าหลากหลายมา
  
อย่างไรก็ตาม นับเป็นความพยายามอันดีที่เราจะเหลียวหลังมองถุงพลาสติกที่เยอะมากกกกพวกนั้น (เป็นถุงก๊อบแก๊บใช่ไหม) แล้วหาทางชุบชีวิตพวกมันให้ได้ทำหน้าที่อีกครั้ง สองครั้ง หรือหลายครั้ง
  
ความสามารถในการชุบชีวิตถุงพลาสติกย่อมขึ้นอยู่กับการพลิกแพลง รสนิยม และความมีแก่ใจทำเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญเช่นนั้น ของเราแต่ละคน
  
เรามาลองนึกเล่นๆ กันดีกว่าว่า เราทำอะไรกับถุงก๊อบแก๊บเหล่านั้นได้บ้าง  จดเป็นข้อๆ ก่อนดีกว่า ...
1. หยิบติดไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายๆ ใบ หลายๆ ขนาดเลย เพราะเรามักซื้อสินค้าเย็น เปียก แห้ง ร้อน ฯลฯ ในคราวเดียว ซึ่งต้องแยกใส่ในถุงพลาสติกหลายใบ
2. วิธียอดฮิตทุกครัวเรือน : สวมทับถังขยะ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บและทำความสะอาด
3. ถุงใบเล็กๆ ที่สะอาดอาจใช้สวมครอบถ้วยอาหารเหลือเก็บเข้าตู้เย็น
4. ใส่ผักผลไม้ก่อนเก็บเข้าตู้เย็น จะทำให้คงความสดได้ดี
5. พกใส่กระเป๋า / เป้ อย่างน้อยก็ใช้คลุมหัวกันฝนได้
6. สวมมือแทนถุงมือ เมื่อหยิบจับของเปียก หรือของไม่พึงประสงค์
7. ห่อของใช้ อุปกรณ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องมือ ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้ในบ้าน เพื่อกันฝุ่น
8. ใส่ของเลอะเทอะชั่วคราว เช่น แปรงทาสี รองเท้าเปื้อนโคลน ร่มเปียกฝน ฯลฯ
9. ใส่ของสำคัญห้ามเปียกน้ำในเป้เดินทาง เช่น กล้องถ่ายรูป มือถือ ไอโฟน หนังสือ ฯลฯ
10. ในขณะเดียวกัน ก็ใส่ของเปียกน้ำ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อเปียก ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ของอย่างอื่นเปียกตาม
11. ใส่เครื่องอาบน้ำที่อาจหกออกมาเหนอะหนะ เช่น ขวดสบู่ แชมพู เบบี้ออย ฯลฯ
12. ใส่รองเท้าแยกจากเสื้อผ้าและข้าวของอื่นในกระเป๋าเดินทาง
13. ม้วนเป็นก้อนกลม ใส่ในกระเป๋าหรือรองเท้าเพื่อรักษารูปทรง
14. เจาะรู เอาไว้ใส่ของเปียกน้ำที่อยากให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้เป็นฝักบัวรดน้ำต้นไม้ได้
15. รองไว้ในแจกันดอกไม้ที่มีรอยแตก กันน้ำรั่ว
16. ยามน้ำท่วมและรองเท้าบู๊ตยางราคาแพง ใส่สวมเท้าก่อนจะใส่รองเท้าเพื่อกันน้ำ
17. ใช้รองกันเปื้อนบนพื้นผิวโต๊ะ ไม่ว่าจะทำครัว ระบายสี ปอกผักผลไม้ ฯลฯ
18. ร้อยเชือกทำเป็นผ้ากันเปื้อน ใช้ได้ทั้งในครัวและในสวน
19. ใช้รองใต้ฝาปิดขวดโหล ฯลฯ เพื่อให้ฝาแน่นขึ้น
20. ใส่ไว้ในรถเป็นถุงแหวะฉุกเฉิน
โฮ่ๆๆ ...นี่ก็ 20 อย่างแล้วนา  (ดูเพิ่มเติมได้อีกที่ http://planetgreen.discovery.com/home-garden/reuses-plastic-bags.html – แต่หลายข้อเป็นฝรั่งไปหน่อย)
ป้าเชื่อว่าเราทุกคนมีความสามารถในการใช้ถุงพลาสติกได้ไม่สิ้นสุด  และเมื่อใช้ๆ ไป โดยไม่รับถุงเพิ่ม  ถุงเหล่านั้นย่อมน้อยลงไปเอง
ยิ่งเราผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหมาดๆ อย่างนี้ ป้าเชื่อว่า หลายคนคงประจักษ์ถึงความสามารถของถุงพลาสติกอเนกประสงค์อยู่ไม่น้อย  นั่นยังไม่รวมการใช้งานแบบไฮโซ เช่น เอามาทำเป็นเสื้อผ้างานแฟนซี ประดิษฐ์เป็นสร้อยคอ ของประดับ และงานศิลปะอื่นๆ อีก
และถ้ามันมากมายจริงๆ ลองนั่งลงและค่อยๆ บรรจงพับทีละใบให้เรียบร้อย เพื่อส่งต่อให้แม่ค้าพ่อขายที่คุ้นเคยกันและต้องใช้ถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้ใส่สินค้าต่อให้ลูกค้าคนอื่น  ป้าเคยเห็นแม่ค้าหลายคนที่ใช้ถุงพลาสติกใช้ซ้ำใส่สินค้าอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกใหม่เอี่ยม ฉีกแพลดออกมาจากถุงพลาสติกใสอีกใบด้วยซ้ำ
หรือถ้ามันล้นเหลือรกบ้านเกินทน ก็อาจส่งมอบส่วนใหญ่ให้คุณซาเล้งไป เหลือไว้ไม่กี่ใบสำหรับใช้งานตามความจำเป็นก็ยังได้จ้า
                    ใช้ถุงก๊อบแก๊บที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ดีกว่าซื้อถุงผ้ามาใช้
                                 ป้าแตงไทย

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ้านคาร์บอนต่ำ

แนวทางการก้าวเดินสู่สังคมคาร์บอนต่ำคือกระแสของโลก ณ ตอนนี้ โครงการประกวดแนวความคิดออกแบบบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน : อบก.) เชิญชวนให้ผู้สนใจส่งแบบบ้านเข้ามาประกวดตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และเลื่อนการรับผลงานออกไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน  สำหรับโครงการนี้มีเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างบ้านและอาคารตึกแถวที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบบดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่เป็นต้นแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งรณรงค์ให้ผู้ประกอบอาชีพทางสถาปัตยกรรม ผู้ประกอบธุรกิจด้านที่อยู่อาศัย และผู้ที่ต้องการซื้อหรือสร้างบ้านและอาคารตึกแถวเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการลดโลกร้อน ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงและให้ความสนใจต่อการออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก
     
บ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ หมายถึง บ้านและอาคารตึกแถวที่มีการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ การใช้งาน การซ่อมแซมและทุบทำลาย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยตลอดวัฏจักรชีวิตของบ้านหรืออาคารนั้น ๆ เมื่อเทียบกับบ้านและอาคารตึกแถวแบบปกติ
     
ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในกระบวนการออกแบบ (Design) เป็นอย่างมาก โดยบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำจะต้องมีการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านและอาคารได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการของเสีย การใช้วัสดุและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี 
    
ดังนั้นลักษณะสำคัญของบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ควรออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น (Tropical Design) สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ไม่สะสมความชื้น และระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้การออกแบบบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ ยังต้องคำนึงถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการดูดซับคาร์บอน ภายในบ้านและอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    
ใครที่คิดจะสร้างบ้านแล้วยังไม่มีแบบบ้านอดใจรออีกนิด เพื่อรอแบบบ้านคาร์บอนต่ำ เพราะมีทั้งบ้านเดี่ยว และแบบอาคารตึกให้เลือก หรือติดตามความคืบหน้าที่ เว็บไซต์ http://www.tgo.or.th


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=547&contentId=164059

สังคมคาร์บอนต่ำ4

ความพยายามที่ท้าทายที่สุดของประชาคมโลกในการหยุดยั้งความเสียหายของโลกใบนี้ซึ่งบอบช้ำจากน้ำมือมนุษย์มานานนับศตวรรษ ทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง การผลิตก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล รวมทั้งการทำลายระบบนิเวศน์ในพื้นต่างๆเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีข้อผูกพันให้ประเทศต่างๆต้องลดก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต (เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ของระดับก๊าซในปี 1990) และเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้นวาทกรรมเรื่อง “สังคมคาร์บอนต่ำ” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาในวงกว้างในฐานะโมเดลของสังคมในอนาคตและทางรอดของมนุษยชาติ
สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนน้อย และแทนที่การใช้พลังงานรูปแบบเดิมด้วยพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆที่พัฒนาจากเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ในหลายประเทศเริ่มมีการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการวางระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีสัดส่วนครอบคลุมถึงร้อยละ 46.7 ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งไปได้จำนวนมหาศาล และจากความเอาจริงเอาจังของภาคส่วนต่างๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 2.55 ล้านตัน ในช่วงปี 2005-2006
สำหรับประเทศไทย การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำยังคงเป็นเพียงกิจกรรมและโครงการขนาดเล็ก หรืออาจกล่าวได้ว่าเรายังอยู่แค่ในช่วงศึกษาค้นคว้าเท่านั้น โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความพร้อมให้สังคมในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีขอบเขตการทำงานแบ่งเป็น 3 ด้านคือ (1) การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสภาพเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างยุทธศาสตร์ในการปรับตัว เช่น การศึกษาวิจัย (2) การสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลด้านอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (3) การประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อนำฐานข้อมูลไปประยุกต์กับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น การคำนวณ carbon footprintอย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคสำคัญ 4 ประการที่ทำให้สังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ

หากประเทศไทยต้องการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ปัญหาอุปสรรคทั้ง 4 ประการแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐเพื่อให้เป็นกลไกในการผลักดันภาคส่วนอื่นๆของสังคม
  1. การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพคือ การใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่ยังคงได้ประโยชน์เท่าเดิม ซึ่งนอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว สังคมไทยยังต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงในครัวเรือน
  2. การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตไฟฟ้าไปได้อย่างมาก ในปัจจุบันมีการใช้พลังงานหมุนเวียนบางประเภทในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตประเภทพลังงานหมุนเวียนให้กว้างขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานในรูปแบบดังกล่าวในอุตสาหกรรมและครัวเรือนอย่างเป็นระบบ
  3. การลดการสูญเสียป่าและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน ในประเทศไทยเองนับว่ามีพัฒนาการเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืน มีการส่งเสริมและให้ความรู้แนวคิดดังกล่าวจนปัจจุบันสามารถขยายผลไปถึงในระดับท้องถิ่น แต่ที่ยังคงเป็นปัญหาคือเรื่องการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าซึ่งแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาแต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ของนายทุนอยู่เป็นจำนวนมาก
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า ไปจนถึงการสร้างนิสัยการบริโภคอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งในสังคมไทยมีการรณรงค์ในประเด็นเหล่านี้จากทั้งทางภาครัฐ และเอกชนแต่ก็ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติและยังไม่สามารถวัดผลได้เท่าที่ควร
Mr. Martin Krause หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ศูนย์โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNDP Asia-Pacific Regional Centre) ได้เสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ว่า รัฐบาลควรเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแต่ควรปล่อยให้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกและควรหันมาอุดหนุนราคาไบโอดีเซลแทนจะดีกว่า แม้ไบโอดีเซลจะใช้พลังงานชีวมวลซึ่งจะปล่อยคาร์บอนเช่นกันแต่ก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเกษตรกรก็เผาเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในหลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ สังคมไทยเองมีจุดแข็งในด้านภูมิปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว หากเพียงแต่เราจะพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำร่วมกับลงมือลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นแล้ว ลูกหลานของเราคงจะอยู่ในสังคมที่ไม่มั่นคงอย่างมาก และไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกต่อไป

สังคมคาร์บอนต่ำ3

คนทั่วไปอาจยังไม่รู้จักมันดี แต่สำหรับคนในแวดวงสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรียกว่า“โลว์คาร์บอน โซไซตี้”หรือสังคมคาร์บอนต่ำ คือชะตาโลกที่จะมาถึงภายในระยะเวลาไม่เกิน 40 ปีข้างหน้า และมนุษย์ทุกคนบนโลกจะได้รับเกียรติ ให้เป็นผู้เล่าประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของพวกเขาเอง



เหตุเกิดที่ 2050

จะเป็นไรไปเล่า ถ้าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริง แน่นอน...มันเป็นเรื่องจริงของมนุษย์โลกคนหนึ่งที่หลับไป 40 ปี และตื่นขึ้นมาก่อนหน้าเช้ามืดในวันหนึ่งของกลางเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2050 “เกิดอะไรขึ้นนี่” เขาพูดกับตัวเองอย่างตกตะลึง โลกตรงหน้าทำไมถึงได้ดูผิดแผกแตกต่าง แสงอาทิตย์ที่เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า



ดูราวจะฉายแสงจ้าด้วยรังสีแปลก ๆ นกกา พืช สัตว์ จัตุบาท ทุกสิ่งเปลี่ยนไปสิ้น โลกเปลี่ยนราวกับว่ามันไม่ใช่โลกใบเดียวกัน แน่นอน...ถ้าเขารู้นะว่าเขาหลับไป 40 ปี ชายคนนี้(ไม่ค่อยหนุ่มแล้วมั้ง) กดรีโมทโทรทัศน์ ก่อนจะค่อย ๆ ยกมือขึ้นทึ้งผมเบา ๆ เขาอ้าปากน้อย ๆ ด้วยอาการของคนเผลอสติ จ้องจอโทรทัศน์ด้วยสายตางุนงง


โลกยามนี้ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาว ๆ หายไปเกลี้ยง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือไทย พื้นที่หดเหลือ 1 กะเปาะเล็ก ๆ ในแผนที่ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่เพาะปลูกเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยน ผู้คนพลเมืองเผชิญภาวะน้ำท่วม ข้าวปลาอาหารน้ำจืดขาดแคลน การเพาะปลูกกลายเป็นเรื่องยากถึงเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย 


โรคภัยไข้เจ็บอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติผันแปร ฟังแล้วอายุคนบนโลกจะสั้นลง ชายผู้หลับไป 40 ปีสะดุ้งเฮือกรีบปิดโทรทัศน์ เขาตัดสินใจเดินออกมานอกบ้านและพบว่าบนถนนช่างเวิ้งว้างว่างเปล่าและแทบจะ เรียกได้ว่าไม่มีรถยนต์วิ่งอยู่เลย “นี่มันอะไรกัน โลกนี้เกิดอะไรขึ้น” เขาถามด้วยเสียงและใจที่สั่นระรัว คนที่ให้คำตอบแก่เขาคือหญิงสาวคนแรกที่เดินผ่านมา เธอย้อนถามเขาว่า “คุณไปไหนมา โลกของเราก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”...แน่นอน...มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ คุณคิด


สิ่งท้าทายอุบัติใหม่

ย้อนโลกกลับไปในปี 1997 ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต จนถึงโคเปนเฮเกนในปี 2009 แม้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่าโลกจะร้อนขึ้นแน่ แต่โลกในขณะนั้นก็เป็นไปในแบบที่เห็นและเป็นอยู่ เรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์พูดกันมาหลายปี แต่ไม่เห็นใครตกลงกับใคร
ใน ท่ามกลางการถกเถียง คือความร่วมมือกันของหน่วยงานระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยระดับภูมิภาคเอเปค Research on the Futures of Low Carbon Society: Climate Change and Adaptation Strategy for Economies in APEC Beyond 2050 ซึ่งประเทศต่างๆ มีรัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน แคนาดา และไทย เป็นต้น ในปี 2010 พวกเขาประกาศสิ่งที่เรียกว่า 5 ภาพฉาย (Scenerio) ของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นใน 40 ปีข้างหน้า
1.ผล กระทบโดยตรง (ภัยแล้ง น้ำท่วม) 2.ผลกระทบต่อคนเมือง 3.ผลกระทบต่อคนชนบทที่ใช้ชีวิตใกล้ฐานทรัพยากร 4.ผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 5.ผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการ ภาพฉายทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแนวคิดการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Chimate Change) ไคลเมทโมเดลที่แม่นยำไม่เพียงแค่การเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือการลดคาร์บอน ไดออกไซด์เท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ด้วย 


โลว์คาร์บอน โซไซตี้

ทำไมถึงต้อง 40 ปี ทำไมถึงต้องบียอนด์ทู 2050 นั่นก็เพราะคณะทำงานสากลคณะนี้ ต้องการทำงานกับโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้นจริงภายในช่วงชีวิตของคนบนโลกที่มี ชีวิตอยู่ในขณะนั้น ที่อย่างน้อยจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีก 40 ปี การทำงานและการกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่บนแนวคิดเชิงบวกที่ว่า มนุษย์ปรับตัวได้เพื่อความอยู่รอด

จากการคาดการณ์โมเดล ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุกสิ่ง ยกตัวอย่างของสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น(2010) คือสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสังคมออนไลน์ ไม่ต้องเจอกันแต่พูดกันได้ ไม่ต้องเจอกันแต่ประชุมทำงานกันได้ สังคมออนไลน์พัฒนาจนสมบูรณ์ในวันหนึ่งเมื่อมนุษย์เดินทางโดยไม่เดินทาง

ความหนักหน่วงของภาวะสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกอย่างแพงด้วยภาษี ทุกอย่างถูกทำให้แพงโดยนโยบาย หลายอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ต้องเป็นไป ในปี 2050 คนไม่ขับรถ คนไม่เดินเรือ คนไม่โดยสารเครื่องบิน น้ำมันที่ใกล้หมดโลก ทำให้พลังงานมีราคาแพงจนแทบจะไม่มีใครสามารถเดินทางได้อีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอาหาร การขนส่งต้องปฏิรูปหมดในปีแห่งอนาคต เราได้เห็นภาพของสังคมที่หลากหลาย สิ่งที่ผูกกันไว้ระหว่างประเทศ เช่น การบิน การเดินทาง ยังสั่นสะเทือนต่อไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว ในเมื่อมีคนเดินทางโดยไม่เดินทาง ก็มีคนที่ท่องเที่ยวโดยไม่ท่องเที่ยว ธุรกิจเวอร์ช่วล ทัวริซึม(Virtual Tourism) เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลก


อิสระของความจริงที่ย่อมเป็นไป

เวอร์ช่วล ทัวร์ริซึม หรือการท่องเที่ยวเสมือนจริง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่รับได้ อธิบายได้ น้ำมันแพงมาก จนไม่มีใครอยากเดินทางจริง ๆ กันอีก ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วมแผ่นดินถล่มทำให้เบี้ยประกันสูงลิบ บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยการเดินทาง ต่อไปการท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ก็ไม่ต้องเดินทางมาจริง ๆ แต่เดินทางไปที่ธีมปาร์ค สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นประเทศไทยจำลอง

ผู้คนในอนาคตยินดีไปเที่ยวโดยตีตั๋วเข้าไปในสถานที่เสมือนจริงเหล่านี้ เพราะเข้าไปก็ได้รับสุนทรียรส แสงสีเสียง สัมผัส กลิ่นอาย ผู้คน อาหาร อากาศ ราคาค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้รับประสบการณ์เหมือนมาเที่ยว เมืองไทยจริง ๆ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจภาคบริการที่จะได้เห็นแน่ ๆ

ใครอยากไปลาสเวกัส ในที่สุดก็มีบ่อนคาสิโนเสมือนจริงในหลายประเทศ ยังมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือกฏกติกาภาษี กฎหมาย เหลี่ยมมุมการเจรจา การต่อรองระหว่างประเทศและอีกมากเท่าที่จะจินตนาการไปถึงได้ ขโมยโลกอนาคตไม่ขโมยเงินหรือพันธบัตร แต่ขโมยพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก ไม่ก็ขโมยโนฮาวเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ภาษีน้ำมันบีบให้เครื่องบินต้องใช้น้ำมันที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล ทั้งหมดนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา(2010-2050) สังคมคาร์บอนต่ำเป็นจริงได้โดยมีเฟียร์แฟคเตอร์ของผู้บริโภคเอง เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่นโยบายของนานาชาติเป็นกรอบกำหนด 40 ปี โลกถูกบีบกรอบไปในแนวทางและยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด สิ่งที่ช่วยคือเทคโนโลยี แต่มันก็เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของสังคมคาร์บอนต่ำเท่านั้น ชีวิตคนเปลี่ยนไปอย่างไร...เราอยู่รอด และมีความสุขภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติ...นี่ต่างหากที่เป็นคำตอบสุดท้ายของ โลกคาร์บอนต่ำ และคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติโลกอนาคต

“ฮือม์...ผมไม่อยากเชื่อเลย” ชายผู้ผ่านกาลเวลามาด้วยการหลับ ฟังแล้วทำเสียงรำพึงรำพันหญิงสาวยิ้มกว้าง เธอตบไหล่ให้กำลังใจเพื่อนผู้แปลกหน้าก่อนจะกล่าวว่า “คุณกลับบ้านเถอะ อย่าคิดอะไรมาก โลกรอดแล้ว สิ่งที่คุณต้องการตอนนี้ คือการได้นอนหลับพักผ่อนซักหน่อย”


ที่มา:http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=grizzlybear&month=06-2010&date=26&group=65&gblog=55