วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Carbon footprint มาตรการสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของภาคการส่งออกไทย


ปัจจุบันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas; GHG) เป็นแนวทางหลักที่นานาชาติเห็นพ้องร่วมกันในการบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีในการลดการปล่อย GHG ภายใต้พิธีสารเกียวโตได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อย GHG จากภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ หนึ่งในนั้นคือการแสดงค่า  Carbon footprint (CF) หรือปริมาณรวมของ GHG ที่แสดงในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าและบริการคาร์บอนต่ำอันนำไปสู่การลดการปล่อย GHG ของประเทศนั้น ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยในฐานะผู้รับจ้างผลิตและผู้ส่งออกสินค้าจึงได้รับผลกระทบจากมาตรการ CF อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาสถานภาพการดำเนินงาน CF และการออกฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยประมวลข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบของ CF และฉลาก Carbon Footprint ต่อสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรส่งออกสำคัญ 20 รายการที่ส่งไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่มีความตื่นตัวเรื่อง CF รวมทั้งโอกาสและศักยภาพในการสร้างความสามารถในการแข่งขันในด้านสินค้าคาร์บอนต่ำของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดดังกล่าว ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในปี 2553-2554 มีสินค้าส่งออกสำคัญถึง 13 รายการที่จะได้รับผลกระทบจาก Carbon footprint คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2552 มากกว่า 6.3 แสนล้านบาทต่อปี และมีความเป็นไปได้ที่ CF จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยรายอื่นๆ นำมาใช้ในการพิจารณาสั่งซื้อสินค้าต่อไป

ที่มา: http://www.biotec.or.th/th/index.php/knowledge/documents/431-carbon-footprint-

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนพอเพียง


ขอสรุปบทสัมภาษณ์ รศ. ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร รองผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Joint Graduate School of Energy and Environment – JGSEE) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์วารสาร Horizon ลงในฉบับที่ ๒๔ (April-June ๒๐๑๐) เกี่ยวกับ สังคมคาร์บอนพอเพียง หรือ Sufficiency Carbon Society น่าสนใจเป็นอย่างมากทีเดียว
อาจารย์เริ่มจากการให้ความหมายของ Low Carbon Society ก่อน เพราะยังคงมีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนอยู่ระหว่างคำ ๓ คำ คือ Low Carbon Economy, Low Carbon Society และ Low Carbon City
Low Carbon Economy จะเน้นไปทางเทคโนโลยีกับเศรษฐศาสตร์ เน้นไปที่การนำเทคโนโลยีสะอาดมาช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้า Low Carbon City จะใช้พื้นที่เป็นหลัก เน้นไปที่เมือง เมืองใดเมืองหนึ่งที่จะเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ มีการวิธีการจัดการอย่างไร … ลดได้เท่าไร ศึกษาเชิงพื้นที่เป็นหลัก ส่วน Low Carbon Society จะพูดถึงหลัก ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ Carbon Minimization จะต้องเป็นสังคมที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ แล้วการลดเป็นการลดแบบไหน อันดับที่สอง คือ Simpler and Richer หมายถึง มีการลดในชีวิตประจำวันด้วยวิธีง่าย ๆ มีความเต็มใจในการลดและยังสามารถสร้างรายได้ ส่วนอันดับที่สาม คือ Co-Existing with Nature เป็นเรื่องของการปรับตัวเองให้เข้าสู่ภาวะโลกร้อนทีเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความหมายของ Low Carbon Society จึงมีความกว้างกว่าตัวเทคโนโลยีอย่างเดียว เป็นเรื่องของการบรรเทา (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของคนในสังคมด้วย แต่ด้วยคำว่า Low Carbon Society ถูกผลักดันมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มาก่อนจึงให้ความสำคัญที่เทคโนโลยีเป็นหลัก
สำหรับ Low Carbon Society ในบริบทของสังคมไทย จะเห็นว่า Simpler and Richer จะเน้นเรื่องความสบายใจในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ ก็เข้ากันได้ดีกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่ Co-Existing with Nature ในบริบทไทย ชุมชนที่นำเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปพัฒนา ก็จะรูปแบบในการดำเนินชีวิตที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี และรักษาธรรมชาติได้ดีด้วย เหมือนชุมชนบ้านเปร็ดใน อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพราะชุมชนเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไป มีวิธีคิดที่จะรักษาธรรมชาติ ไม่ได้มองที่ตัวเองเป็นหลัก แต่จะสร้างระบบเป็นหลักทำอย่างไรให้อยู่กับธรรมชาติได้ แล้วการที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ก็ทำให้สามารถลดโลกร้อนได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าคนไทยทั้งประเทศทำแบบชุมชนบ้านเปร็ดใน ภาพรวมการปล่อนในประเทศก็ลดลง ต้องช่วยกันทำด้วยความเต็มใจ มันไปด้วยกันระหว่าง Low Carbon Society กับเศรษฐกิจพอเพียง
การจะเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต้องมีความเข้าใจเป็นหลักก่อน ว่าทำไมต้องทำสังคมคาร์บอนต่ำ ต้องมีความเข้าใจในเรื่งอของการทำอย่างไรจึงจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในการลดก๊าซเรือนกระจกต้องมีทั้งเทคโนโลยี และ เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ๒ สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน
ในตะวันตก มีการสร้างระบบชัดเจนในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการวางเป้าหมายร่วมกัน ใช้ในเชิงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอาคนที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันมองหาโอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถวางแผนในการลดก๊าซร่วมกัน สร้างแผนร่วมกัน แต่ถ้าจะเอามาใช้ในไทย ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนมากๆ เข้ามาร่วมดำเนินการ ร่วมกันช่วยกันคิด ตอนนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กำลังพยายามเริ่มมองเมืองต้นแบบ Low Carbon Society และจะพัฒนาคู่มือ
ที่มา: Sufficiency Carbon Society มาสร้าง ‘สังคมคาร์บอนพอเพียง’ ด้วยกัน. ๒๔ (April-June ๒๐๑๐): ๓๖-๔๑

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดันภาคอุตฯผลิตสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

สมอ.และสถาบันสิ่งทอดันภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้น ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าสีเขียวของอาเซียนในปี 2560
นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้จัดทำแผนเพิ่มขีดความสามารถ อุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรประยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2555-2557 โดยยื่นของบประมาณจำนวน 300 ล้านบาทเพื่อนำจะพัฒนาผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด ล้อมของอาเซียนภายในปี 2560
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ล้วนให้ความสำคัญต่อสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรต่อสังคม ผู้ประกอบการไทยจึงต้องพัฒนาการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้กับการผลิตสินค้า และเรื่องนี้ก็ถือเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่งที่ผู้ซื้อสร้างขึ้นมา เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง ไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด
“จากแผนในระยะแรกที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550-2552 งบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน เพราะประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ส่งออกสินค้า ถ้าไทยไม่ปรับตัวจะเสียโอกาสทางการตลาด จึงได้มีการผลักดันแผนระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อให้ไทยสามารถผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด” นายชัยยง กล่าว
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอมีการแข่งขันสูงและมีความต้องการสินค้าสิ่งและ เครื่องนุ่งห่มที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยจึงเริ่มปรับตัว ซึ่งในขณะนี้ไทยถือว่าเป็นผู้นำและเตรียมความพร้อมมาอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการสิ่งทอได้รับใบรับรองฉลากแสดงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซ เรือนกระจกตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) แล้วจำนวน 16 โรงงาน
ทั้งนี้ การได้รับใบรับรองจะทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 5-15% และลูกค้าก็ยอมรับในคุณภาพสินค้า โดยตลาดหลักๆ ที่เน้นการนำมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมาใช้มากที่สุด คือ สหภาพยุโรป ที่เป็นตลาดส่งออกสิ่งทออันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มนำมาตรฐานนี้มาใช้บ้างแล้ว จากเดิมที่สนใจแต่ด้านราคา รวมถึงญี่ปุ่น ก็เริ่มตื่นตัวแล้วเช่นเดียวกัน
“การติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นในสินค้าไม่ได้ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม ขึ้นมาก แต่เกิดจากความตั้งใจของผู้ประกอบการมากกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลดใช้พลังงาน ลดใช้น้ำ ในกระบวนการผลิต ซึ่งทางสถาบันต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการ หันมาสนใจและขยายความตระหลักออกไปในวงกว้างที่สุดจนถึงผู้ผลิตระดับเอสเอ็ม อี” นายวิรัตน์ กล่าว
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัททองไทยการทอ กล่าวว่า การนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิตนอกจากจะช่วยให้สินค้าได้ รับการยอมรับจากลูกค้าแล้ว ยังเป็นวิธีในการลดต้นทุนการผลิตทางหนึ่งด้วย เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เท่ากับการลดการใช้พลังงาน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถทำได้ไม่ยาก อยู่ที่ความตั้งใจทำมากที่สุด

ซีพี-มาม่า-องุ่น”แห่ติดฉลากคาร์บอน ขี่กระแสลดโลกร้อนหวังบุกตลาดตปท.

กระแสโลกร้อนมาแรง เอกชนแห่ขอติดฉลากคาร์บอนทั้งรายเล็กรายใหญ่เกือบ 100 บริษัทกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ นำทีมโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอติดฉลากมากที่สุด ตามมาด้วยมาม่า สหพัฒน์, โค้กกระป๋อง, เบทาโกร, ซีเล็คทูน่า, เขียวหวานการบินไทย, น้ำมันพืชองุ่น ไปจนกระทั่งถึงเสื้อแอร์โร่ว์ ชี้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต้องการสินค้าลดโลกร้อน ใครไม่ทำมีสิทธิตกขบวน แข่งขันไม่ได้

นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ อบก.ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชน ติดฉลากคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ปรากฏขณะนี้มีเอกชนจำนวนมากมาขอการรับรองติดฉลากคาร์บอนไปแล้วมากกว่า 100 บริษัท 300 ผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ อบก.ได้ให้การรับรองฉลากคาร์บอน 3 รายการ ได้แก่ 1) คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หมายถึง ฉลากที่ระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ-การขนส่ง-การประกอบชิ้นส่วน-การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบัน ได้รับการรับรองไปแล้ว 52 บริษัทจำนวน 196 ผลิตภัณฑ์ อาทิ บริษัทซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ขอติดฉลากในผลิตภัณฑ์ไก่ย่างเทอริยากิ-เนื้อไก่สด-ไก่ห่อสาหร่าย-อาหารไก่, บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทราโกร จำกัด (มหาชน) อาหารไก่เนื้อเบอร์ 203 และบริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน)
2) ฉลากลดคาร์บอน (Carbon reduction label) หมายถึง ฉลากที่แสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ โดยการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) หรือสินค้าตั้งแต่การจัดเตรียมวัตถุดิบ-การผลิต-การใช้และการจัดการหลังการใช้ได้รับรองแล้ว 29 บริษัท จำนวน 130 ผลิตภัณฑ์ อาทิ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์ ผงพลาสติกพีวีซี, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก, บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวตราวังขนาย และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง
3) คูลโมด (Cool Mode) หมายถึง ฉลากที่ติดในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนหรือเสื้อผ้าเพื่อบอกถึงคุณสมบัติผ้าชนิดนั้น ๆ เป็นผ้าลดโลกร้อน สวมใส่แล้วเย็นสบายและทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อลดการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ การซักทำความสะอาด และการใช้น้ำ ปัจจุบัน อบก.ให้การรับรองไปแล้ว 6 บริษัท จำนวน 15 โครงสร้างผ้า อาทิ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
“ขณะนี้เอกชนให้ความสำคัญกับฉลากคาร์บอนมาก เช่น บริษัท ซีพีเอฟ ที่มีการตั้งทีมงานขึ้นมาคำนวณการปล่อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท พร้อมทั้งจ้างหน่วยงานทวนสอบจากการคำนวณดังกล่าว เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้นำเข้าที่ต้องการตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแสดงให้กับผู้บริโภคเห็น” นายศิริธัญญ์กล่าว
มีข้อน่าสังเกตว่า ทิศทางการพัฒนาในขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น การดำเนินการหลาย ๆ อย่างถูกนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องของโลกร้อน รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบควรจะต้องมีเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ-สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ปัจจุบันจะไม่มีประเทศไหนบังคับให้สินค้าต้องติดฉลากคาร์บอน แต่หากผู้ประกอบการรายไหนสามารถดำเนินการได้ก็จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าที่ไม่ได้ติดฉลาก หรือสร้างโอกาสการขายสินค้ามากขึ้น รวมถึงในอนาคตที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาจจะประกาศบังคับใช้ให้ ผู้ผลิต-ผู้นำเข้าติดฉลากคาร์บอน ดังนั้นการดำเนินการขณะนี้จึงเท่ากับเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าได้
สำหรับขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนและรับรองฉลากคาร์บอนจะเริ่มต้นจากบริษัทผู้ขอการรับรองจะต้องคำนวณค่าคาร์บอนที่ปล่อยหรือลดได้จากกระบวน การผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จากนั้น จะเป็นกระบวนการทวนสอบข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยให้บริษัทประสานงานกับผู้ทวนสอบที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. (Registered Carbon Footprint Verifier) เพื่อทวนสอบและรับรองข้อมูลปริมาณคาร์บอน และนำผลการคำนวณที่ได้จากผู้ทวนสอบไปแจ้งกับสำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การ มหาชน) ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ นำเสนอต่อคณะทำงานฯ เพื่อขออนุมัติติดฉลากต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์