วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บัญชีคาร์บอนฟุตพริ้นท์//ดร. ชิต เหล่าวัฒนา

 บทความก่อนหน้านี้ผมได้แนะนำโครงการคาร์บอนฟุตพรินท์ ที่ ดร. วรพจน์ อังกสิทธิ์ แห่งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ได้นำทีมนักวิจัยและนักศึกษาของสถาบันดำเนินการศึกษาโดยนำร่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 4 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองแกลง และเทศบาลตำบลอัมพวา ปรากฎว่ามีหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนสอบถามเข้ามากในรายละเอียด ผมจึงขอ update ความก้าวหน้าดังต่อไปนี้
       
       สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือหลักการของการทำบัญชีและรายงานก๊าซเรือนกระจกนั้นต้องนำมาเป็นพื้นฐานของการดำเนินงานเพื่อให้การดำเนินงานและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์นั้นมีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้อง และมีการประเมินอย่างเป็นระบบ โดยนำหลักการของ GHG Protocol มาเป็นพื้นฐาน:
       
       1.Relevance การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกนั้นต้องสะท้อนถึงก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่องค์กรฯ ปฏิบัติอยู่อย่างเหมาะสมและสะท้อนถึงกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรฯ
       
       2.Completeness การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กรฯ จะต้องครอบคลุมแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั้งที่ถูกปล่อยออกมาและทราบถึงกิจกรรมที่เป็นต้นทางของแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบขององค์กรฯ
       
       3.Consistency การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กรฯ จะต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ ต้องมีวิธีการที่สามารถอ้างอิงได้ในกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ การระบุขอบเขตของกิจกรรม การวิเคราะห์ข้อมูล การคำนวณข้อมูล การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลจะต้องมีการอธิบายหรือเปิดเผยอย่างชัดเจน
       
       4.Transparency การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กรฯจะต้องมีการบันทึกและมีดำเนินการอย่างโปร่งใสสามารถบอกถึงที่มาของข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูล การกำหนดขอบเขต ความเป็นมาของการประเมิน การกำหนดค่าต่างๆ การวิเคราะห์ต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบในอนาคต 
       
       5.Accuracy การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กรฯ จะต้องมีความถูกต้องในการวิเคราะห์ และไม่มีการประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำหรือที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้อย่างน่าเชื่อถือ
       
       ก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องนำมาพิจารณา (GHG to be assessed)
       ก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องพิจารณามีทั้ง 6 ชนิดภายใต้พิธีสารเกียวโต มีดังต่อไปนี้
       1.Carbon dioxide (CO2)
       2.Methane (CH4)
       3.Nitrous oxide (N2O)
       4.Hydrofluorocarbons (HFCs)
       5.Perfluorocarbons (PFCs) 
       6.Sulfur hexafluoride (SF6)
       
       ก๊าซเรือนกระจกทั้ง 6 ชนิดจะต้องแยกการรายงานการปล่อยของแต่ละชนิดออกจากกันและวัดเป็นหน่วยของ เมตริกตันในแต่ละชนิด และคำนวณเป็น ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในหน่วยของ เมตริกตันเช่นเดียวกัน การเทียบค่าของก๊าซแต่ละชนิดมาอยู่ในรูปแบบของ CO2eq ช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนโดยใช้ค่า Global Warming Potential (GWP) ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลนำมาใช้ในการเทียบค่า CO2eq โดยค่า GWP นั้นอ้างอิงจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) 



ที่มา:http://www2.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000060131

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)หนุนสิ่งทอติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รองรับมาตรการสิ่งแวดล้อมประเทศคู่ค้า

สมอ.หนุนสิ่งทอติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์รองรับมาตรการสิ่งแวดล้อมประเทศคู่ค้าาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดสัมมนาThailand Green Textile Network หนุนสร้างเครือข่ายสิ่งทอสีเขียวพร้อมมอบใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และโชว์ศักยภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอรวมกว่า 20 รายการ นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาในโลกปัจจุบัน นอกจากจะมีการแข่งขันด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม พ.ศ. 2553-2557 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative and Green) และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาสร้างคุณค่า มีนวัตกรรมและเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตสินค้าโดยการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมต่อสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการวิจัยเพื่อการผลิตสีเขียวและการผลิตที่สะอาด โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาเซียนภายในปี 2560จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเครือข่ายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco label) ของสหภาพยุโรป” โดยจัดทำข้อมูลในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จำนวน 18 โรงงานนายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลกมีการแข่งขันสูงนอกจากเรื่องคุณภาพและราคาแล้ว ประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ ประกอบกับความต้องการสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสิ่งทอรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการใช้ฉลากแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การแปรรูป กระบวนการผลิตการขนส่งไปยังร้านค้าปลีก การใช้ และการกำจัดขั้นสุดท้าย ซึ่งฉลากนี้สามารถติดบนผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ แผ่นพับ รวมทั้งการตรวจข้อมูล ณ จุดขาย หรือบนเว็บไซด์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งความต้องการของผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจำเป็นต้องปรับตัวโดยการจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ซื้อ
สถาบันฯ จึงได้จัดงานสัมมนา Thailand Green Textile Network ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเครือข่ายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label)ของสหภาพยุโรป ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้กับเครือข่ายผู้ผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งทอสีเขียวในประเทศ และตัวแทนจากบริษัทผู้ซื้อ ผู้ค้าปลีกสินค้าสิ่งทอรายใหญ่จากต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือสีเขียว
โดยได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดสายโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ พัฒนาและจัดทำข้อมูลในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จำนวน 18 โรงงาน จนประสบผลสำเร็จและได้จัดให้มีพิธีมอบใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในวันนี้ (10 มี.ค.54)  จำนวน 16 โรงงาน ส่วนอีก 2 โรงงานนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับใบรับรองฯ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2554 นายวิรัตน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยนั้น  ได้รับใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้วเป็นจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์  เมื่อรวมกับครั้งนี้อีก 28 ผลิตภัณฑ์  ทำให้ในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับฉลากดังกล่าวมากที่สุดในประเทศ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย   


ที่มา:http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&parent=468&directory=1830&pagename=content2&contents=56077

ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คำตอบสุดท้ายของสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม?

ปัจจุบันมาตรการการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคสินค้าคาร์บอนต่ำ และสื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นจากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ  ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการให้ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ คือ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์  แม้ว่าการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนฉลากเป็นมาตรการโดยสมัครใจ แต่ในบางประเทศเริ่มมีการระบุไว้ในกฎหมายและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น กฎหมาย Grenelle 2 ของประเทศฝรั่งเศสระบุให้ผู้ผลิตต้องแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าจากฉลากเครื่องหมายหรือสื่ออื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2554 

อย่างไรก็ตาม การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสื่อสารว่าเป็นสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมและอาจนำไปสู่คำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้พิจารณาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่น เช่น การใช้น้ำและที่ดิน การปล่อยสารพิษสู่ดินและน้ำ สวัสดิภาพสัตว์ การค้าที่เป็นธรรม เพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า การศึกษานี้ได้ประมวลมาตรการการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์และงานวิจัยจากประเทศต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการและผู้จัดทำนโยบายของไทยตระหนักถึงปัญหาและเตรียมพร้อมสำหรับการส่งเสริมการผลิตสินค้าสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไปอีกขั้น! เดินหน้าทำ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ระดับองค์กร

หลังฉลาก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” นำร่องประทับลงบนสินค้ากว่า 60 ชิ้นแล้ว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกร่วมกับเอ็มเทคเดินหน้าประเมินการปล่อย คาร์บอนระดับองค์กร นำร่องก่อน 5 องค์กร คาดแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า เชื่อจะได้รับผลตอบรับดีเพราะเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่องค์กร
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) สำหรับประเทศไทย” เมื่อต้นเดือน ต.ค.53 ณ โรงแรมเซนจูรี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามการลงนามดังกล่าวด้วย
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวถึงรายละเอียดโครงการว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งมี 63 ผลิตภัณฑ์จาก 25 บริษัทได้รับการรับรอง ซึ่งผู้ส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดของสภาพยุโรปที่ให้ระบุ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์ และการระบุคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้องมีฐานข้อมูลซึ่งได้จากทางเอ็มเทคที่ศึกษา เรื่องนี้มา 5 ปี
สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรนั้น ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้หารือกับเอ็มเทคมาพร้อมๆ กับการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เห็นผลในระดับผลิตภัณฑ์ก่อนเนื่องจากมีผลกระทบต่อการค้าขาย ส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะให้แก่องค์กรที่มีจิตสำนึก โดยให้สำรวจกิจกรรมภายในองค์กรว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร และอนาคตอาจพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเมื่อทำทั้งระบบจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ตลอดห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน
ในขณะที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้การตอบรับเนื่องจากมีผลต่อการทำธุรกิจ แล้วการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะได้รับความสนใจเช่นเดียวกันหรือไม่นั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทคกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้บริหารให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องของภาพพจน์องค์กร และยังมีผลดีในเชิงการใช้ทรัพยากร โดยเบื้องต้นจะนำร่องศึกษาใน 5 บริษัทและกำลังอยู่ระหว่างคัดเลือก ซึ่งยังไม่มีเกณฑ์ที่ตายตัวเนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น แต่บริษัทนำร่องทั้งหมดต้องเป็นบริษัทที่ไม่มีพันธกิจซ้ำกัน
ทั้งนี้ อำนาจในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นอยู่ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซ เรือนกระจก ส่วนเอ็มเทครับผิดชอบในส่วนของเทคโนโลยี วิชาการและฐานข้อมูลสำหรับประเมินการปล่อยคาร์บอน ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลนี้ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถ โดยได้ทำข้อมูลย้อนกลับไป 4-5 ปี จากนั้นเอ็มเทคจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ที่ปรึกษาที่เข้ารับการอบรม เพื่อออกไปทำหน้าที่ในการคำนวณการปล่อยคาร์บอน
องค์กรที่เข้ารับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้องได้รับการตรวจจาก ที่ปรึกษาซึ่งอาจเป็นทีมขององค์กรเองที่มีความสามารถในการคำนวณการปลดปล่อย คาร์บอนได้ จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจสอบซึ่งต้องขึ้นทะเบียนผ่านทางองค์การบริหาร จัดการก๊าซเรือนกระจกและเป็นผู้ที่มีอำนาจอิสระในการเข้าตรวจสอบองค์กรนั้น ที่จะเข้าตรวจสอบการคำนวณของที่ปรึกษาอีกที ทั้งนี้ คาดว่าในโครงการนำร่อง 5 บริษัทจะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี และการรับรองจะมีอายุ 2 ปี เช่นเดียวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงสถานการณ์จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยว่า ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่หาแนวทางประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ ตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20 ประเทศที่กำลังหาแนวทางดังกล่าว สำหรับแนวทางของไทยคงต้องใช้มาตรฐานสากลแต่อยู่ในบริบทของไทย
สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นหลายอาจถึงคาร์บอนที่มาจากผลิตภัณฑ์ หากแต่จริงๆ แล้ว ดร.พงษ์วิภากล่าวว่าก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยมาจากในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกำหนดเป้าหมายและ การจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งภายในเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีโปรแกรมให้คำนวณการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ และหากใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 5.3 ตันต่อปี ถือว่าปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ

ฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint Labeling)

ฉลากคาร์บอนเป็นฉลากที่ทำขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs)ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น (package) โดยใช้แนวคิดของการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment, LCA)เพื่อประเมินปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นโดยแสดงผลในรูปของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent)และแสดงผลผ่านทางฉลากที่ติดให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ บนบรรจุภัณฑ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ หรือ website ของผลิตภัณฑ์

ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environmental Institute) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse gas Organization) ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการฉลากคาร์บอนขึ้นในเดือน สิงหาคม 2551 ซึ่งในประเทศไทยจะแบ่งฉลากคาร์บอนออกเป็น 2 ประเภท คือ
ฉลากแบบที่ 1 พิจารณาการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Cradle to Grave) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เวลาค่อนข้างมากเนื่องจากมีกระบวนการประเมินซับซ้อน
ฉลากแบบที่ 2 พิจารณาการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาเฉพาะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (Production stages) เท่านั้น (Gate to gate) ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานน้อยกว่าแบบแรก โดยในช่วงแรกของโครงการจะมุ่งเน้นการออกฉลากคาร์บอนแบบที่ 2 เพื่อให้การดำเนินการออกฉลากกระทำได้รวดเร็ว เพื่อรองรับกระแสของผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบทั้งวงจรชีวิตเพื่อการออกฉลากคาร์บอนแบบที่ 1จะถูกดำเนินการในลำดับถัดไป ฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าหรือบริการนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ค่อนข้างสูง ปานกลาง ค่อนข้างต่ำ หรือ ต่ำ โดยแสดงผลเป็น 5 ระดับ ด้วยหมายเลข 1 - 5 สินค้าที่ได้ฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 คือ สินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยที่สุดและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ หรืออีกนัยหนึ่งคือสินค้าหรือบริการนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งระบบฉลากคาร์บอนนี้มีความคล้ายคลึงกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของกระทรวงพลังงาน
ฉลากคาร์บอนในประเทศอื่นๆ
ปัจจุบัน มีการใช้ Carbon Label ในบางประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากนี้ ได้แก่อาหาร เครื่องดื่มและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (แชมพู สบู่ ฯลฯ)สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดการติดฉลากแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนตัวผลิตภัณฑ์ มีหน่วยงานหลักที่ร่วมรับผิดชอบ คือ Department of the Environment, Food and Rural Affairs (DEFRA) และ The Carbon Trust ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยในปี ค.ศ. 2007 ในภาคธุรกิจ บริษัท TESCO ซึ่งเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศได้เริ่มโครงการติดฉลากแสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ TESCO กว่า 20 สินค้า จาก 4 ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย น้ำส้ม มันฝรั่งอบกรอบ สารซักฟอกและหลอดไฟฟ้า 



ประโยชน์ของการมีฉลากคาร์บอน
ผู้บริโภค
            ทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
            มีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ผู้ผลิต
            ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล(fossil fuel) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
            แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม(social responsibility) และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท


ระบบมาตรฐานที่ใช้เพื่อจัดทำฉลากคาร์บอน 
ปัจจุบันมีมาตรฐานที่องค์กรสามารถนำมาใช้ เพื่อจัดทำฉลากคาร์บอน(Carbon Footprint Labelling) ได้แก่
ISO 14025 : 2006 Environmental labels and declarations PAS  2050 : 2008 Specification for the assessment of the life cycle greenhouse gas emissions of goods and services
หน่วยงานที่ให้การรับรองฉลากคาร์บอนประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(TGO) เริ่มดำเนินการให้การจัดทำ Carbon Label อย่างเป็นทางการ โดยแสดงผลในรูปของปริมาณ GHG ที่ลดลง ซึ่ง TGO ทำหน้าที่ในการดูแลด้านการประเมินและการจัดทำฉลาก ฯ ต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจและพยายามสนับสนุนการทำ Carbon Label โดยมีหน่วยงานที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและรับรองรองฉลากอาทิ เช่นCarbon Trust เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ใน สหราชอาณาจักร จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องสภาวะโลกร้อน และกระตุ้นเรื่องการลดปริมาณการปลดปล่อย GHG ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ Carbon Trust เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำฉลาก เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ตรา Walkers Carbon Label California เป็นหน่วยงานเอกชน ที่ทำหน้าที่คล้าย Carbon trust และทำงานร่วมกับรัฐแคลิฟอร์เนีย ในการร่างข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการลดการปลดปล่อย GHG The Japan Environmental Management Association for Industry (JEMAI) เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการประเมินและการจัดทำฉลาก คาร์บอนของประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : 1)เครือข่ายเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจไทย (Thai Green Design Network)2)สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environmental Institute) 3)องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse gas Organization)4)http://www.tesco.com5/
5)www.beverage.foodbev.com6)www.carboncounted.com