วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อุตสาหกรรมไทยแห่ติด‘ฉลากคาร์บอน’ หวั่นต่างชาติยกเลิกออเดอร์ส่งออกยุโรป!

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในไทย แห่ติด ‘3 ฉลากคาร์บอน’ หวังเกาะกระแสผู้บริโภคในตลาดยุโรปเชื่อหากไม่ดำเนินการหวั่นถูกถอนออเดอร์และถูกแย่งตลาดส่งออก ขณะเดียวกัน การติดฉลากจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น พร้อมสะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ -บ่งชี้วัฐจักรสินค้ายั่งยืน ด้านประเทศฝรั่งเศสดันฉลากคาร์บอนเข้าบังคับใช้ตามกฎหมาย สภาอุตฯเผยกระแสภาคการส่งออก และกำลังซื้อผู้บริโภคลดโลกร้อนมาแรง! 

              ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรวดเร็วมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในปัจจุบัน  ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต่างตื่นตัว และหันมาให้ความสำคัญ พร้อมมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้ 'ฉลากคาร์บอน' ในรูปแบบต่างๆ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท และอาจกลายเป็นปัจจัยหลักที่น่าจับตามองในการตัดสินใจซื้อสินค้าต่าง ๆ ของผู้บริโภค และภาคการส่งออกในอนาคตอันใกล้ อาทิ เลือกซื้อสินค้า หรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  “ผู้นำเข้าสารทำความหวานที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในหมากฝรั่งบางรายของประเทศอเมริกาต้องการให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก่อนตัดสินใจนำเข้า และมีผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสหลายรายมีกฎในการคัดเลือกผู้ส่งออก โดยกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์” เจ้าหน้าที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกระบุ  ผู้ประกอบการรายใหญ่แห่ติด ‘3 ฉลาก’ รักษ์โลก              ส่วนบทบาทฉลากคาร์บอนในประเทศไทยนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแล ให้การส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชนในด้านการบริหาร การจัดการก๊าซเรือนกระจก และเป็นผู้ตรวจสอบ รับรองตรา หรือฉลากแก่บริษัท และผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีด้วยกัน 3 ฉลากดังนี้ 
             
1.ฉลากลดคาร์บอน หรือ Carbon Reduction label เป็นเครื่องหมายแสดงการลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วย เช่น ในกระบวนการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าใด หลังจากที่ผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์แล้ว เป็นต้น

2.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ‘Carbon Footprint’ เป็นเครื่องหมายแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่แหล่งการได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการสินค้าหลังใช้ ครอบคุมทุกขั้นตอน ส่วนใหญ่ผู้ส่งออก และผู้นำเข้ายังต่างประเทศนิยมติดฉลากนี้
              
3.เสื้อผ้าลดโลกร้อน หรือ ‘CoolMode’ เป็นเครื่องหมายที่ใช้ติดเฉพาะเสื้อผ้าหรือผ้าผืนเท่านั้น รวมถึงการแปรรูปเป็นชุด เช่น ชุดทำงาน ชุดลำลอง ฯลฯ ซึ่งจะมีป้ายระบุชนิดเส้นใย สัญลักษณ์การซักรีด หรือวิธีการซักรีด ฯลฯ ซึ่งมีเกณฑ์ในการวัดด้านความปลอดภัย อาทิ ปราศจากสารก่อมะเร็ง และมีคุณสมบัติการช่วยลดโลกร้อนในทางอ้อมหรือไม่ อาทิ ผ้าที่สวมใส่แล้วเย็นสบาย ระบายความร้อนได้ดี ทำความสะอาดง่าย คงทนต่อการสวมใส่ เพื่อลดการใช้พลังงานในการใช้เครื่องปรับอากาศ การซักทำความสะอาด การทำซ่ำ และการใช้น้ำ เป็นต้น โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 สรุปยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียนฉลากทั้ง 3 ประเภทมีดังนี้ 1.โครงการจัดทำการขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอน Carbon Reduction Label มีทั้งหมด 110 ผลิตภัณฑ์ จาก 25 บริษัท อาทิ ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, ล่ำสูง ประเทศไทย จำกัด (มหาชน), ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 2.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มีทั้งหมด 196 ผลิตภัณฑ์ จาก 52 บริษัท อาทิ ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน), ทองไทย การทอ จำกัด, ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, เพรสซิเดนท์ไรซ์โปรดัก จำกัด (มหาชน), ทิปโก้ฟูดส์ ประเทศไทย จำกัด มหาชน ฉลาก CoolMode มีทั้งหมด 6 บริษัท 15 โครงสร้างผ้า อาทิ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน), หจก. ศาลายาดีไซน์, บริษัท วิชั่นเท็กซ์ จำกัด, บริษัท ไอ.ดี. นิตติ้ง จำกัด, บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าบริษัทที่จดทะเบียนและเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีการทำธุรกิจ การค้ากับต่างประเทศ  ฝรั่งเศสดัน ‘ฉลาดคาร์บอน’ บังคับใช้               ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อกำหนด หรือนโยบายบังคับใช้ในการติดฉลากคาร์บอน แต่ในหลายประเทศต่างขานรับแนวคิด และดำเนินการตามนโยบายติดฉลากคาร์บอนในแบรนด์สินค้าของตนเองด้วยความสมัครใจ โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มมีการพิจารณา ดำเนินการ และผลักดันให้เกิดข้อบังคับใช้ตามกฎหมายแก่ผู้ผลิตให้แสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคทราบ ส่วนด้านผู้บริโภคในหลายประเทศเชื่อว่าการสนับสนุนสินค้าให้ติดฉลากคาร์บอนจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน "ผู้นำเข้าสินค้าบางประเทศต้องการให้คู่ค้าคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยแสดงข้อมูลเป็นตัวเลขก่อนนำเข้า เช่น หน่อไม้ฝรั่งที่ส่งออกไปขายยังประเทศอังกฤษ ลูกค้าบางรายกำหนดให้ผ่านมาตรฐาน LEAF (Linking Environment And Farm) และติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น” นักธุรกิจไทยขานรับเทรนลดโลกร้อน ดร.รัตนาวรรณ บอกต่อว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการชาวไทยในหลายอุตสาหกรรมได้ให้ความสนใจ และมีการเข้าร่วมโครงการทำฉลากคาร์บอนใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, วัสดุก่อสร้าง, ภาชนะบรรจุ, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และตลาดส่งออกในอนาคต แม้ผู้บริโภคชาวไทยจะยังไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือรู้จักก็ตาม ส่วนอุปสรรคในการดำเนินการในการทำฉลากคาร์บอน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ดำเนินการนั้นอาจเนื่องจากข้อจำกัดด้านความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานระดับประเทศและของต่างประเทศ ความยุ่งยากในการรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งยังไม่มีการร้องขอจากลูกค้า หรือผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามภาครัฐของไทยได้ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการทำฉลากคาร์บอน โดยให้องค์ความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานระดับประเทศ และต่างประเทศ พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลวัตรจักรชีวิตที่ใช้ในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งยังทำความตกลงกับต่างประเทศให้มีการยอมรับระบบฉลกาคาร์บอนของประเทศไทยอีกด้วย “ในอนาคตจะมีหลายภาคส่วนให้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย และสังคมโลกมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ และการบริโภคที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะว่าทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน”  หวั่นไม่ติดฉลากคาร์บอนถูกถอนออเดอร์  ด้าน พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรง เป็นที่สนใจแก่ภาคการส่งออก และผู้บริโภคเป็นอย่างมาก หากผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไม่สนใจ หรือให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ ติดฉลากคาร์บอน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ ก็จะทำให้โอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศน้อยลง และถูกคู่แข่งรายอื่นแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นตัวส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย อาทิ ไก่แช่แข็ง, กุ้งแช่แข็ง ฯลฯ “รูปแบบการติดฉลากคาร์บอนจะมีความแตกต่างกันในการสื่อสารของแต่ละประเทศ แต่เป็นการบ่งบอกถึงความใส่ใจ และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องนี้ อาทิ มีบริษัทขาดใหญ่บางแห่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ” อีกทั้งการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และมีแนวโน้มมีความต้องการสูงในอนาคต โดยมีขั้นตอนเบื้องต้นดังนี้ 1.ต้องมีที่ปรึกษาในการดำเนินงาน วิเคราะห์ข้อมูล ตัวเลข มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-2 แสนบาทต่อผลิตภัณฑ์ หรือจะฝึกพนักงานในบริษัทดำเนินการแทนก็ได้ 2.การยืนตรวจข้อมูล จะมีผู้เข้าตรวจข้อมูล ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 36,000 บาท 3.ค่าขอใช้ฉลาก จะมีค่าธรรมเนียม กับค่ามอนิเตอร์ สามารถใช้ได้ 2 ปี ค่าใช้จ่ายหลังปี 54 ประมาณ 8,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีรายละเอียดและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันแต่ละฉลากอีกที              

   สำหรับฉลากคาร์บอนที่กำลังมาแรง และเป็นที่สนใจในหลายประเทศมีด้วยกัน 3 ฉลากดังนี้ 1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นฉลากที่บอกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่ยุ่งยาก 2.วอลเตอร์ฟุตพริ้นท์ เป็นฉลากที่บอกปริมาณการใช้น้ำ 3. ฉลากที่บอกแหล่งวัตถุดิบ และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร อุตฯอาหารเร่งติดฉลากคาร์บอน เกาะกระแสผู้บริโภคยุโรป  ขณะที่ ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยดำเนินการติดฉลากคาร์บอนในผลิตภัณฑ์แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฎ ขอบังคับของภาครัฐก็ตาม คาดว่าเป็นการเตรียมการขานรับเทรนความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และคู่ค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป อีกทั้งยังเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองการณ์ไกลในการให้ความสำคัญ และคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อย่างไรก็ดีการติดฉลากคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่หัวใจสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลัก แต่หัวใจหลักอยู่ที่ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยฉลากเป็นการบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ปล่อยคาร์บอนเท่าไร ใช้น้ำเท่าไร ฯลฯ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งเมื่อผู้ผลิตทราบว่าผลิตภัณฑ์ของตนปล่อยก๊าซ หรือใช้ทรัพยากรมากในกระบวนการไหน ก็จะสามารถเข้าแก้ปัญหา ลดการใช้ทรัพยากรได้ตรงจุด เป็นต้น “ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่ติดฉลากคาร์บอน ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจ เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง มีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ก็จะหันมาให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม อย่างประเทศฝรั่งเศสกำลังพยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอน” ดร.ปิยะนุช กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น