วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint® Calculator”

หลักการและเหตุผล 
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ด้วยฉลากคาร์บอน (Carbon labeling) ซึ่งแสดงออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการใช้พลังงานค่อนข้างสูงทั้งในการผลิตและบริโภค อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของผู้บริโภคทุกคน จึงควรส่งเสริมให้วิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์และติดฉลากคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
การพัฒนาโครงการเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ “FOODprint®” สามารถรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากกิจกรรมการผลิตของบริษัทผู้ดำเนินการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และจัดหาข้อมูลทุติยภูมิที่ใช้ในการสนับสนุนการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนสูตรคำนวณสำเร็จรูปในตารางแผ่นคำนวณ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงมือปฏิบัติคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์ 
  • พัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint®” เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงมือปฏิบัติคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  • ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint®” ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกำหนดเป้าหมายในการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างศักยภาพทางเทคนิคให้กับบุคลากรอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทย ให้มีความรู้และสามารถดำเนินการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เอง อันเป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอน
กลุ่มเป้าหมาย 
บริษัทผู้แปรรูป บริษัทผู้จำหน่ายวัตถุดิบ หรือ บริษัทผู้จำหน่ายภาชนะบรรจุ สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และเพาะเลี้ยง โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกโรงงานสาธิต ดังนี้
  • ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ตัวอย่างต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
  • ความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมดำเนินการคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอน
  • นโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  • ความพร้อมของระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการใช้ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • ความร่วมมือจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบและภาชนะบรรจุใช้ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • ประสบการณ์ด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การตรวจวัดพลังงาน หรืออื่นๆ
ประโยชน์ที่บริษัทโครงการสาธิตจะได้รับ 
  1. บุคลากรของบริษัทโครงการสาธิต มีองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทโครงการสาธิตในความเป็นผู้นำด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการร่วมเป็นบริษัทโครงการสาธิต
  2. บริษัทโครงการสาธิต สามารถใช้ผลการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ สามารถใช้ผลการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในการกำหนดเป้าหมายในการจัดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง จำแนกขั้นตอนและกิจกกรมที่ควรปรับปรุง
  3. บริษัทโครงการสาธิต มีข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เบื้องต้นสำหรับตัดสินใจดำเนินการขอรับรองผลและขึ้นทะเบียนติดฉลากคาร์บอน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 
15 มกราคม 2554 – 15 มิถุนายน 2556
ผู้ดำเนินการโครงการ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ผู้รับผิดชอบโครงการ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น