วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์2

3. บทนิยาม (Terms and Definitions)
3.1 การเก็บกักคาร์บอน (Carbon storage)
การเก็บกักคาร์บอนโดยกระบวนการทางชีวภาพหรือที่มีอยู่ในอากาศ ให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่ใช่ก๊าซที่พบในชั้นบรรยากาศ
3.2 การชดเชย (Offsetting)
การนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการประเมินมาหักลบ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ
เรือนกระจกของผลิตภัณฑ์
3.3 การปันส่วน (Allocation)
การแบ่งส่วนปริมาณสารขาเข้า และ/หรือสารขาออก ของกระบวนการหรือระบบของผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาไปยังผลิตภัณฑ์เป้าหมายและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของผลิตภัณฑ์
3.4 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง
3.5 การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Removal)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง

3.6 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงต้นน้ำ (Upstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงก่อนเข้าสู่วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตขององค์กรที่ทำการวัดคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์
3.7 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงปลายน้ำ (Downstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมายซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากผลิตภัณฑ์ถูกจำหน่ายออกจากองค์กรที่ทำการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
3.8 ขอบเขตของระบบ (System boundary)
ขอบเขตของกระบวนการที่อยู่ภายใต้ระบบของผลิตภัณฑ์ที่จะทำการพิจารณา
3.9 ข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product category rules: PCRs)
กฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่ถูกกำหนดขึ้นตามแนวทางในการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (Type III environmental declarations)และมีความเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์
3.10 ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data)
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดกิจกรรมการผลิตในโรงงานหรือองค์กร หรือกิจกรรมการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือที่องค์กรมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล

3.11 ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data)
ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลอื่นนอกเหนือข้อมูลปฐมภูมิ
3.12 ชีวมวล (Biomass)
วัตถุที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต แต่ไม่รวมถึงวัตถุที่ถูกทับถมจนเป็นฟอสซิลหรือมีต้นกำเนิดจากฟอสซิล
3.13 ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide Equivalent, CO2e)
ค่าแสดงความสามารถในการทำให้โลกร้อนเมื่อเทียบในรูปปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคำนวณได้จากมวลของก๊าซเรือนกระจกคูณด้วยค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3.14 ศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP)
ค่าศักยภาพของก๊าซเรือนกระจกในการทำให้โลกร้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ โดยคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
3.15 ไบโอเจนิก (Biogenic)
สารที่มาจากชีวมวล แต่ยังไม่เป็นฟอสซิลหรือมาจากฟอสซิล
3.16 สินค้าทุน (Capital goods)
เครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

3.17 ผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product)
ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเดียวกัน และมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์
3.18 หน่วยการทำงาน (Functional Unit)
หน่วยการทำงานของผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้ในการกำหนดขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลสารขาเข้าและสารขาออกจากระบบผลิตภัณฑ์
3.19 หน่วยผลิตภัณฑ์ (Product Unit)
หน่วยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจกำหนดแยกตามน้ำหนัก ปริมาตรหรือขนาดบรรจุ จำนวนย่อยพื้นที่ หรือตามรูปแบบที่วางจำหน่ายอื่นๆ
3.20 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ (Material contribution)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต
3.21 การตัดออก (Cut off)
การไม่นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากระบบมาใช้ในการคำนวณหรือประเมิน

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์1

      1. ขอบเขต (Scope)  
      แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ฉบับนี้ได้กำหนดวิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยใช้หลักการประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life cycle assessment: LCA) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดเศษซากหลังการใช้งาน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Cradle to Grave) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงสิ้นสุดกระบวนการผลิตในโรงงาน (Cradle to Gate) ได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์สามารถใช้บ่งชี้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เฉพาะประเด็นด้านการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเท่านั้น ไม่ได้นำผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity) การเกิดฝนกรด (Acidification) ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (Eutrophication) ความเป็นพิษ (Toxicity) เป็นต้น มาประเมินร่วมด้วย

การกำหนดแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในครั้งนี้ เป็นการจัดทำเกณฑ์ (Criteria) กลางสำหรับใช้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับทุกผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการฯ ได้มีการจัดทำข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product Category Rules:PCRs) เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีการกำหนด PCRs ไว้ ก็สามารถนำ PCRs ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐาน ISO14025 มาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้

2. เอกสารอ้างอิง (Normative References)

ISO 14025:2006, Environmental labels and declarations -- Type III environmental declarations -- Principles and procedures.
ISO 14040:2006, Environmental management -- Life cycle assessment -- Principles and framework.
ISO 14044:2006, Environmental management -- Life cycle assessment -- Requirements and guidelines.
ISO 14064-1:2006, Greenhouse gases -- Part 1: Specification with guidance at the organization level for quantification and reporting of greenhouse gas emissions and removals.
ISO/CD 14067.2: 2011, Requirements and guidelines for quantification and communication
Japanese Technical Specification “General principles for the assessment and labeling of Carbon Footprint of products”, (Japan,2009)
PAS 2050:2008, Specification for the assessment of the lifecycle greenhouse gas emissions of goods and services

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

         แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
      การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้พลังงาน การเกษตรกรรมการพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่งการตัดไม้ ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมรวมถึงภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและของโลก

        การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากรูปแบบและวิถีการบริโภคของตน และยังเป็นกลไกทางการตลาดในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ดังนั้น การทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากหลังใช้งาน พร้อมทั้งมีการแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า และกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
            
       การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายประเทศได้นำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักรสาธารณรัฐฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเกาหลี เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยบางรายการถูกร้องขอให้มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย นอกจากนี้ หากไทยมีการดำเนินโครงการและจัดเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน
ก็จะช่วยให้มีข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ประกอบการเจรจาต่อรองในการประชุมระดับโลก เพื่อกำหนดแนวทางแก้ ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้มากขึ้นด้วย

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

20 วิธีใช้ถุงพลาสติกซ้ำ (เป็นอย่างน้อย)

เคยอ่านเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกจากป้าแตงนะคะ (หัวเรื่องว่า “ขอไม่รับถุงจ้ะป้า”)  แต่ไอ้ถุงพลาสติกในบ้านที่มันมีอยู่แล้วมันก็เยอะมากกกกกกกกกกกเลยค่ะ  พยายามใช้แล้ว ใช้ซ้ำ  ทีนี้อยากจะขอไอเดียการนำกลับมาใช้ใหม่บ้างว่า เราจะสามารถแปรรูปไอ้ถุงพลาสติกพวกนี้ไปทำอย่างอื่นได้อีกมั้ยคะ
                              ขอบคุณค่ะ
                            น้องกิ๊กกรู้ววว, ,, (ทางอีเมล)
หนูกิ๊กกรู้ววว, ,, จ๋า (ต้องใช้วิธี copy มา paste นะนี่ กลัวสะกดผิด)
โอ้โห ดีใจที่ได้เจอแฟนคอลัมน์อย่างหนูกิ๊กฯ (ตกลงเรียกย่อๆ ดีกว่านะ)
ตามเหตุผลที่เล่าไว้ใน “ขอไม่รับถุงจ้ะป้า” ที่น้องกิ๊กกรู้ววว, ,, อ้างอิงถึง ความตั้งใจหลักของเราอยู่ที่การรับถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด  หรือถ้าวันๆ นึงไม่รับได้เลย ยิ่งดีใหญ่
  
ส่วนถุงเยอะมากกกที่มีอยู่ในบ้านเรือน ย่อมถือเป็นประวัติศาสตร์ผสมเครื่องเตือนใจให้เราทำวันนี้ให้ดีกว่าเดิม ด้วยการพกพาเพื่อนแท้อย่างปิ่นโต กล่องใส่อาหาร กระติกน้ำ กระบอกสแตนเลสใส่กาแฟ ถุงผ้า และอื่นๆ ที่เรามีแก่ใจพาไปไหนๆ ด้วย ทั้งใกล้ไกล
    
ถึงอย่างนั้น ถุงพลาสติกแฝงตัวก็ย่อมติดมาถึงบ้านเราอีกไม่น้อย เช่น ถุงใส่ขนมปัง โดยเฉพาะแบบแยกชิ้น ถุงใส่ผลไม้ที่แยกขายเป็นกิโล และอื่นๆ ที่บรรจุสินค้าหลากหลายมา
  
อย่างไรก็ตาม นับเป็นความพยายามอันดีที่เราจะเหลียวหลังมองถุงพลาสติกที่เยอะมากกกกพวกนั้น (เป็นถุงก๊อบแก๊บใช่ไหม) แล้วหาทางชุบชีวิตพวกมันให้ได้ทำหน้าที่อีกครั้ง สองครั้ง หรือหลายครั้ง
  
ความสามารถในการชุบชีวิตถุงพลาสติกย่อมขึ้นอยู่กับการพลิกแพลง รสนิยม และความมีแก่ใจทำเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญเช่นนั้น ของเราแต่ละคน
  
เรามาลองนึกเล่นๆ กันดีกว่าว่า เราทำอะไรกับถุงก๊อบแก๊บเหล่านั้นได้บ้าง  จดเป็นข้อๆ ก่อนดีกว่า ...
1. หยิบติดไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายๆ ใบ หลายๆ ขนาดเลย เพราะเรามักซื้อสินค้าเย็น เปียก แห้ง ร้อน ฯลฯ ในคราวเดียว ซึ่งต้องแยกใส่ในถุงพลาสติกหลายใบ
2. วิธียอดฮิตทุกครัวเรือน : สวมทับถังขยะ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บและทำความสะอาด
3. ถุงใบเล็กๆ ที่สะอาดอาจใช้สวมครอบถ้วยอาหารเหลือเก็บเข้าตู้เย็น
4. ใส่ผักผลไม้ก่อนเก็บเข้าตู้เย็น จะทำให้คงความสดได้ดี
5. พกใส่กระเป๋า / เป้ อย่างน้อยก็ใช้คลุมหัวกันฝนได้
6. สวมมือแทนถุงมือ เมื่อหยิบจับของเปียก หรือของไม่พึงประสงค์
7. ห่อของใช้ อุปกรณ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องมือ ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้ในบ้าน เพื่อกันฝุ่น
8. ใส่ของเลอะเทอะชั่วคราว เช่น แปรงทาสี รองเท้าเปื้อนโคลน ร่มเปียกฝน ฯลฯ
9. ใส่ของสำคัญห้ามเปียกน้ำในเป้เดินทาง เช่น กล้องถ่ายรูป มือถือ ไอโฟน หนังสือ ฯลฯ
10. ในขณะเดียวกัน ก็ใส่ของเปียกน้ำ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อเปียก ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ของอย่างอื่นเปียกตาม
11. ใส่เครื่องอาบน้ำที่อาจหกออกมาเหนอะหนะ เช่น ขวดสบู่ แชมพู เบบี้ออย ฯลฯ
12. ใส่รองเท้าแยกจากเสื้อผ้าและข้าวของอื่นในกระเป๋าเดินทาง
13. ม้วนเป็นก้อนกลม ใส่ในกระเป๋าหรือรองเท้าเพื่อรักษารูปทรง
14. เจาะรู เอาไว้ใส่ของเปียกน้ำที่อยากให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้เป็นฝักบัวรดน้ำต้นไม้ได้
15. รองไว้ในแจกันดอกไม้ที่มีรอยแตก กันน้ำรั่ว
16. ยามน้ำท่วมและรองเท้าบู๊ตยางราคาแพง ใส่สวมเท้าก่อนจะใส่รองเท้าเพื่อกันน้ำ
17. ใช้รองกันเปื้อนบนพื้นผิวโต๊ะ ไม่ว่าจะทำครัว ระบายสี ปอกผักผลไม้ ฯลฯ
18. ร้อยเชือกทำเป็นผ้ากันเปื้อน ใช้ได้ทั้งในครัวและในสวน
19. ใช้รองใต้ฝาปิดขวดโหล ฯลฯ เพื่อให้ฝาแน่นขึ้น
20. ใส่ไว้ในรถเป็นถุงแหวะฉุกเฉิน
โฮ่ๆๆ ...นี่ก็ 20 อย่างแล้วนา  (ดูเพิ่มเติมได้อีกที่ http://planetgreen.discovery.com/home-garden/reuses-plastic-bags.html – แต่หลายข้อเป็นฝรั่งไปหน่อย)
ป้าเชื่อว่าเราทุกคนมีความสามารถในการใช้ถุงพลาสติกได้ไม่สิ้นสุด  และเมื่อใช้ๆ ไป โดยไม่รับถุงเพิ่ม  ถุงเหล่านั้นย่อมน้อยลงไปเอง
ยิ่งเราผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหมาดๆ อย่างนี้ ป้าเชื่อว่า หลายคนคงประจักษ์ถึงความสามารถของถุงพลาสติกอเนกประสงค์อยู่ไม่น้อย  นั่นยังไม่รวมการใช้งานแบบไฮโซ เช่น เอามาทำเป็นเสื้อผ้างานแฟนซี ประดิษฐ์เป็นสร้อยคอ ของประดับ และงานศิลปะอื่นๆ อีก
และถ้ามันมากมายจริงๆ ลองนั่งลงและค่อยๆ บรรจงพับทีละใบให้เรียบร้อย เพื่อส่งต่อให้แม่ค้าพ่อขายที่คุ้นเคยกันและต้องใช้ถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้ใส่สินค้าต่อให้ลูกค้าคนอื่น  ป้าเคยเห็นแม่ค้าหลายคนที่ใช้ถุงพลาสติกใช้ซ้ำใส่สินค้าอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกใหม่เอี่ยม ฉีกแพลดออกมาจากถุงพลาสติกใสอีกใบด้วยซ้ำ
หรือถ้ามันล้นเหลือรกบ้านเกินทน ก็อาจส่งมอบส่วนใหญ่ให้คุณซาเล้งไป เหลือไว้ไม่กี่ใบสำหรับใช้งานตามความจำเป็นก็ยังได้จ้า
                    ใช้ถุงก๊อบแก๊บที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ดีกว่าซื้อถุงผ้ามาใช้
                                 ป้าแตงไทย