เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU Environment Council) ได้มีมติเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการนโยบายส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP)และนโยบายอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrial Policy) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปแสวงหาแนวทางในการคำนวณ carbon footprint โดยให้ศึกษาผลกระทบการเพิ่ม carbon footprint เพิ่มเติมจากระบบการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึง Eco-label (มาตรการโดยสมัครใจ) และการติดฉลากระบุเรื่องการใช้พลังงาน (Energy Labelling) และพัฒนาวิธีการคำนวณโดยสมัครใจซึ่งสามารถใช้ได้ร่วมกัน
2. เห็นชอบกับข้อเสนอในแผนปฏิบัติการ SCP ที่ให้เร่งสร้างระบบเศรษฐกิจที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยใช้คาร์บอนต่ำและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้มาตรการสมัครใจและบังคับควบคู่กัน
3. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป พัฒนาวิธีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงวงจร (ตั้งแต่การผลิต การใช้ การทำลายหรือย่อยสลาย) ตลอดช่วง supply chain และผลกระทบในระดับระหว่างประเทศ โดยใช้พื้นฐานจากนโยบายIntegrated Product Policy (IPP) รวมทั้งให้ประเมินผลการดำเนินการตาม Eco-design Directive ด้วย
4. สนับสนุนการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement : GPP) โดยควรเพิ่มแรงกระตุ้นในระบบตลาดร่วม
5. ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ควรมีการกำหนดเวลา ข้อกำหนดขั้นต่ำและ benchmark ที่คาดการณ์ได้ เพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว
6. การติดฉลาก Eco-label ควรขยายให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทเพิ่มมากขึ้น ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของสินค้าที่จะได้รับการติดฉลากอย่างรวดเร็วและคงความน่าเชื่อถือ โดยให้องค์กรภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบ และเพิ่มการให้ข้อมูลและสื่อสารกับผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตเพิ่มเติม
7. กฎระเบียบเรื่อง Energy Labelling Framework Directive ควรรวมสินค้าประเภทอื่นๆ เข้าไปด้วย จากเดิมระบุเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานของสินค้าไฟฟ้าในครัวเรือนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ Eco-Design Directive และให้เพิ่มข้อมูลตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่นๆเพิ่มด้วย เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์
8. สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำมาตรฐานสินค้าของ EU มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศด้วย
9. คณะกรรมาธิการยุโรปได้เพิ่มความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม โดย 1) สนับสนุนให้การอ้างอิงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมีความถูกต้องและให้มีแนวทางในระเบียบที่ว่าด้วย Unfair Commercial Practices 2) เน้นให้สร้าง Code of Conduct โดยสมัครใจ เพื่อลด carbon footprint ในภาคการค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และ supply chains รวมทั้งตรวจสอบความเป็นจริงของข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีการกล่าวอ้างในสินค้า และ 3) เน้นความสำคัญของ CRS ในการเป็นเครื่องมือโดยสมัครใจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว มีแนวโน้มว่าสินค้าที่จำหน่ายใน EU ในอนาคตจะต้องจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมศึกษาเพื่อเตรียมการและปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU ได้ต่อไป
ที่มา : http://www.mfa.go.th/business/trade_update2.php?id=27981
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น