การทำ Carbon Footrpint ยังคงนิยม แต่การติด Carbon Label ชะลอตัวลง
ผู้แทนของบริษัท Camden BRI กล่าวว่า การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ หรือที่เรียกกันว่า Carbon Footprint นั้น ยังได้รับความสนใจในหมู่ผู้ประกอบการในอังกฤษ เพราะนอกจากเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การที่ในอียูมีโครงการค้าสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU Emission Trading Scheme) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องวัด carbon footprint ของตน เพื่อรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า เป็นไปตามโควต้าที่ได้จัดสรรหรือไม่
แต่สำหรับการทำฉลากแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซให้กับสินค้าหรือบริการเฉพาะอย่าง หรือที่รู้จักกันในนาม Carbon Label นั้น ในตอนนี้ อาจลดความร้อนแรงลงไปจากปีที่แล้ว โดยองค์การ Carbon Trust ได้ออกฉลาก Carbon Label ครั้งแรกในปี 2007 และมีผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าร่วม เช่น มันฝรั่งทอดกรอบตรา Walkers น้ำผลไม้ smooties ของ Innocent และยาสระผมของ Boots จนในปี 2008 ได้ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อห้าง Tesco ได้สนใจเข้าร่วมโครงการ และติดฉลาก Carbon Label ให้แก่สินค้าหลายประเภทของตน สร้างกระแสความสนใจให้แก่ suppliers ทั้งในและนอกยุโรปว่า ต่อไปจะเป็นกระแสการติดฉลาก Carbon Label และการเรียกร้องให้ suppliers ทั้งในและนอกอียู ให้จัดทำข้อมูล Carbon Footprint ที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าดังกล่าว จะกลายมาเป็นหนึ่งในข้อกำหนดในการค้าขายกับธุรกิจยุโรปหรือไม่
ทว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ภาคธุรกิจอังกฤษได้ชะลอการทำ Carbon Label ใหม่ๆออกมา เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นรีบเร่งที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะในตอนนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และให้ความสำคัญกับเรื่องราคามาเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังเห็นว่า ผู้บริโภคยังคงสับสน จากการที่ฉลาก Carbon Label ยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และในหลายๆประเทศ ก็ยังไม่มีมาตรฐานกลาง ที่สำคัญ ผู้แทนของบริษัท Camden BRI ยังเสริมว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดเจนว่า การติดฉลาก Carbon Label มีผลโดยตรงในการช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าหรือบริการ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะ “หยุด” รอดูท่าทีไปสักทีเดียว ห้าง Tesco ยังคงจริงจังและเดินหน้าเรื่องการติดฉลากการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กับสินค้าของตนต่อไป ส่วนห้าง Sainsbury เองก็ยังคงให้ความสนใจอยู่ ในส่วนของทางการอังกฤษ สถาบัน British Standard Institute ได้ร่วมกับ Carbon Trust และกระทรวงอาหารและกิจการในชนบท (DEFRA) เปิดตัวมาตรฐาน PAS 2050 เมื่อตุลาคม 51 ซึ่งจะเป็นมาตรฐานกลางของประเทศในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นมาตรฐานที่ Carbon Trust ใช้วัดและจัดทำ Carbon Label (แต่เรื่องของการทำ Carbon Footprint ยังคงเป็นมาตรการสมัครใจเช่นเดิม และรัฐบาลอังกฤษดูไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนให้เป็นระเบียบข้อบังคับ) และที่สำคัญ ปัจจุบัน กำลังมีการคุยในระดับนานาชาติ เพื่อหามาตรฐานร่วมในการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกรอบ ISO อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น