วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

กระทรวงอุตฯ จัดระเบียบคาร์บอนฟรุตพริ้นท์

อุตสาหกรรม เร่งเยียวยาโลกร้อน ไฟเขียว MTEC ลุยโครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในผลิตภัณฑ์ เสริมพลังผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ฝ่าด่านมาตรการกีดกันการค้า ของประเทศคู่ค้าทั่วโลก 
      
       นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิด เผย กระแสโลกร้อนเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกต้องเร่งหาทางเยียวยาให้โลกเย็นลง มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าทั่วโลก จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงขานรับทิศทางดังกล่าว เพื่อช่วยคลีคลายปัญหาโลกร้อน โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกันกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เร่งดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่ ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้พิจารณาประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ นั้นๆ อันจะเป็นการยกระดับการพัฒนาของผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคได้มีสิทธิ์เลือกใช้มากขึ้น เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและรับผิดชอบต่อโลกร่วมกันได้อีกทางหนึ่ง โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการตาม“มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรม ไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า” กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจการค้ากับระเทศคู่ค้าที่สำคัญได้ทั่วโลก
      
       “ก๊าซเรือนกระจก ตามที่ระบุในพิธีสารเกียวโต มี 6 ตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) และ เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ดังนั้น เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนสินค้าต่างๆ นั้น เป็นการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่า ไหร่ เช่นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) ของเสื้อยืดผ้าฝ้าย 100% ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) ของข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เป็นต้น โดยขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ด้วย แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการบังคับใช้ฉลากชนิดนี้ในรูปแบบของกฏหมาย แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกบังคับจากคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม” ผอ.สศอ. กล่าว
      
       อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องการใช้เครื่องหมาย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ต้นปี 2552 และมีการรับรองผลิตภัณฑ์กลุ่มแรก อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2552 จนถึงขณะนี้ มี 63 ผลิตภัณฑ์ จาก 25 บริษัท ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย  คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แล้ว และขณะนี้มีอีกกว่า 50 บริษัท/องค์กร ที่สนใจจะประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ และขอรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ไนลอน ถุงยางอนามัย กระเบื้อง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละบริษัท/องค์กรก็มีเหตุผลความจำเป็นที่แตกต่างกัน เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น ส่งสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลกได้ตามเงื่อนไขต่อไป

 ที่มาASTV ผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤศจิกายน 2553

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

Carbon footprint ฉลากตัวเล็กๆ เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก

ปัญหาโลกร้อนทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตื่นตัว พยายามคิดค้นหาทางป้องกัน แก้ไขปัญหา และบรรเทาปัญหาผลกระทบ แนวทางหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ การแสดงข้อมูล “คาร์บอนฟุต    พริ้นท์” (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารไปยังผู้ซื้อและผู้บริโภคด้วยฉลากที่เรียกว่า “ฉลากคาร์บอน” (Carbon Label)
ในแง่ความหมาย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
ในแง่ความสำคัญ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้ภาคการผลิตหาแนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน โดยคาดหวังว่า เมื่อผู้บริโภคมีความเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนฟรุตพรินท์ (รวมทั้งมีสินค้าเป็นทางเลือกเพียงพอ) ผู้บริโภคจะใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการเลือกตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ ซึ่งหมายถึงเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำกว่า และความต้องการสินค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำของผู้บริโภคก็จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแนวทางอันหนึ่งที่นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่หลายประเทศกำหนดไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
คาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอนได้ถูกพัฒนาและใช้อยู่ในหลายประเทศแล้ว ในกรณีสหราชอาณาจักร ดำเนินงานโดยองค์กรชื่อ “คาร์บอนทรัสต์” (Carbon Trust) เป็นหน่วยงานเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนวางจำหน่ายแล้วมากกว่า 1,000 รายการ สำหรับฝรั่งเศส คาร์บอนฟุตพริ้นท์ถูกริเริ่มและพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ชื่อ “ADEME” ส่วนฉลากคาร์บอน มีการริเริ่มและพัฒนาเป็นโดยธุรกิจผู้ค้าปลีก Casino ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนวางจำหน่ายในฝรั่งเศสแล้วมากกว่า 300 รายการ โดยทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะกำหนดให้มีการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับสินค้าทุกประเภทภายในปี 2554 สำหรับในแถบเอเชีย กรณีที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่จะพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์และการติดฉลากคาร์บอนเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว มีโครงการนำร่องมากกว่า 40 บริษัท หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้แนวปฏิบัติในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และมีการเสนอร่างกฎเฉพาะของผลิตภัณฑ์ 41 รายการ
ในกรณีประเทศไทย การพัฒนา “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Reduction Label) ดำเนินงานโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ประกาศใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2552 ในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 16 รายการ มีสินค้าหลากหลายกลุ่ม เช่น เครื่องดื่มกระป๋อง กระเบื้องเซรามิคบุผนัง เส้นด้ายยืดไนล่อน ไก่ย่างบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เป็นต้น
มีตัวอย่างงานศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ข้าวโดย ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง และคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่แสดงให้เห็นว่า หากทราบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เราสามารถคิดหาทางเลือกหรือแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกมาก จากการศึกษาวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม พบว่า ปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมมีค่าเท่ากับ 22 กิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสูดในขั้นตอนการปลูกข้าว คิดเป็น 94% ส่วนขั้นตอนการผลิตภาชนะบรรจุและขั้นตอนการสีข้าว มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 2% และขั้นตอนการจัดจำหน่ายเพียง 1%
คาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นเครื่องมือเล็กๆ แต่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก ช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการก้าวสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาที่กำลังจะกำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของประเทศไทย
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 7-10 มีนาคม 2553

Carbon footprint ซัพพลายเชนเตรียมรับเละ


สำหรับผู้ส่งออกสินค้าไปยังยุโรป ขอบอกว่า ไม่ง่ายเหมือนก่อนแน่นอน หากท่านเป็น รายย่อย ๆ บรรดากองทัพมดอาจจะยังไม่กระทบโดยตรง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านกำลังจะคิดทำการใหญ่ เช่น เป็นซัพพลายเออร์ให้กับสินค้าแบรนด์เนมในยุโรป หรือเป็นซัพพลายเชนให้กับบริษัทผลิตอาหาร เสื้อผ้า หรืออะไรก็ตามที่จะส่งออกไปยังยุโรป กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะคาร์บอนฟุตพรินต์จะเป็นอีกมาตรการที่จะกีดกันทางการค้า ทำให้ทั้งรายย่อยรายใหญ่ยิ่งเจ็บปวดที่สุด เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นเรื่องที่พูดกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้คนที่จะส่งออกไปยุโรปตื่นตัว และคราวนี้ก็ดูเหมือนจะเริ่มจริงจังมากยิ่งขึ้น


ต่างประเทศขยับ รับ CO2


จากการประชุมนานาชาติ International Conference/ Workshop on National LCI Database & Carbon Footprint ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น เป็นการประชุมในเวทีที่มีการพูดกันในหลาย ๆ ประเด็นคือ นานาชาติ เห็นด้วยที่จะมีการผลักดันผลิตภัณฑ์ที่มีป้ายบอกปริมาณการปล่อยก๊าซหรือ คาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เห็นได้ชัดคือ ในประเทศฝรั่งเศสกำลังจะออกกฎหมายเก็บภาษีคาร์บอน (17 ยูโรต่อตัน CO2) โดยพยายามจะเริ่มใช้ในปี 2554 ในขณะที่ญี่ปุ่นมีแผนผลักดันเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยได้มีการทุ่มงบประมาณถึง 1 หมื่นล้านเยนตั้งแต่ปี 2009-2011 โดย 9 พันล้านเยนจะช่วยเอสเอ็มอีในประเทศญี่ปุ่น และอีก 1 พันล้านเยน จะให้ความช่วยเหลือประเทศในแถบเอเชีย ส่วนในจีน และไต้หวัน รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น ซัมซุง และเอเซอร์ ก็ให้ความสนใจ หรือแม้แต่โลตัส คาร์ฟูร์ วอล-มาร์ตเองก็มีการระบุว่าสินค้าที่สั่งมาจากทั่วโลกจะต้องมีป้ายระบุ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย


ในขณะที่นานาชาติฝั่งซีกโลกตะวันตก นำโดยเยอรมนี บราซิล ได้ผลักดันให้การผลิตเชื้อเพลิงจากการเกษตรต้องมาจากพื้นที่เกษตรยั่งยืน โดยต้องมีการประเมินในเรื่องพื้นที่และผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม


ประเทศ มาเลเซีย ประกาศ National Green Technology Policy เริ่มในวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 นี้และมีการตั้งกระทรวงใหม่คือ Ministry of Energy Green Technology and Water เพื่อประสานทุกหน่วยงาน (มีแผนทำ Nation CFP ปี 2554-2558)


เกาหลีใต้ ออกกฎหมาย Law Carbon & Green Growth Law เริ่มปี 2010 และจะลด GHG 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020


และที่น่า สนใจที่สุดก็คือ ISO 14067 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล คาดว่าจะถูกประกาศใช้ภายในปี 2553 นี้


ซัพพลายเชนเตรียมตัว


ผล กระทบของเอสเอ็มอีอยู่ที่ห่วงซัพพลายเชน ซึ่งจะมีผลกระทบอยู่มาก หากเป็นบริษัทที่มีซัพพลายเชน บางรายก็มีการปรับเอาซัพพลายเออร์บางตัวออกไป หรือถ้ามีจำนวนมาก มีผู้ผลิตบางประเทศถึงกับเปลี่ยนตลาดจากยุโรปไปรัสเซียเลยก็มี เพราะไม่มีปล่อยยคาร์บอนฟุตพรินต์ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนตลาด ราคาระหว่างยุโรปกับรัสเซียก็ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


ดร.ธำรง รัตน์ มุ่งเจริญ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจศูนย์ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ แนะนำว่า เอสเอ็มอีที่จะพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ สิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือต้องมีวิธีการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวน การผลิตด้วย เพราะจะทำให้ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์รู้ว่ามีกระบวนการไหนบ้าง ที่ปล่อยคาร์บอนมากหรือน้อย เพราะบางอุตสาหกรรมจะเริ่มปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ต้นทาง บางอุตสาหกรรมจะปล่อยในตอนผลิต และบางผลิตภัณฑ์เป็นตอนที่ใช้งาน หรือบางผลิตภัณฑ์จะปล่อยมากตอนเผาทิ้งทำลาย แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากเรารู้ จะทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ถูกต้องและแก้ไขได้ถูก ขั้นตอน มากขึ้น
หลากธุรกิจที่มากับคาร์บอน


ในอดีต ที่ผ่านมาเรารู้เรื่องของกรีนโปรดักต์ แต่ในอนาคตเรื่องของคาร์บอนฟุตพรินต์จะทำให้แต่ละประเทศไม่มีพรมแดน โปรดักต์ที่มีเทคโนโลยีที่ลดกระบวนการผลิตคาร์บอนและอีโคดีไซน์จะวิ่งเข้ามา เพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์โลว์คาร์บอน


นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาในเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับ ความสนใจ คือจะเริ่มตั้งแต่เก็บข้อมูลในกระบวนการผลิตและประเมินเป็นปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอน ซึ่งในต่างประเทศเองก็มีเทคโนโลยีในเรื่องนี้มานานพอสมควร โดยเฉพาะในอังกฤษเองก็มีที่ปรึกษาทางด้านนี้มากมาย แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะจะคิดประมาณ 2.5 แสนบาทต่อปี หรือคิดเปอร์เซ็นต์ตามยอดขายก็มี อีกหนึ่งธุรกิจที่จะตามมาด้วยก็คือที่ปรึกษาด้านอุปกรณ์ ลดการใช้พลังงานต่าง ๆ ที่จะมาพร้อมกัน


35 บ.ใหญ่ขยับแล้ว


โครงการนำร่องฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในการทำดาต้าเบสซึ่งมีกว่า 400 ฐานข้อมูล สำหรับคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ ใน 25 บริษัท อาทิ ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ บจม.เพรสซิเดนท์ไรซ์ โปรดักซ์ ผู้ผลิตมาม่าเส้นหมี่น้ำใสกึ่งสำเร็จรูป บจม.บางซื่อ โรงสีเจี่ยเม้ง ทมจ.ทิปโก้ ฟูดส์ (ประเทศไทย) บจม.คาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ บจม.แอดวานซ์ อะโกร บ.ยาวโอตานิ บจม.เบทาโกร การบินไทย ฯลฯ ที่ถือเป็นโครงการนำร่องผลิตภัณฑ์คาร์บอนฟุตพรินต์ของไทยเมื่อเมษายน 2552 ที่ผ่านมา
ที่เห็นได้ชัด เช่น บริษัทการบินไทย ซึ่งจะต้องบินไปทั่วโลก ก็ต้องคำนวณด้วยเช่นกันว่าเครื่องบินปล่อยก๊าซคาร์บอน เท่าไหร่ และการบินไทยยังเป็นบริษัทรายแรกของไทย ที่เมนูอาหารระบุค่าคาร์บอนฟุตพรินต์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีก 35 รายที่ยื่นความประสงค์เข้ามาเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา เช่น บริษัท พรานทะเลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กลุ่มสหวิริยา จำกัด บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เต็ดตราแพ้ค (ไทย) จำกัด


โดย 35 บริษัทนี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ กล่าวว่า ผู้ที่ยื่นความประสงค์จะเข้าโครงการ มาจากหลายสาเหตุคือนโยบายจากบริษัทแม่ที่ส่งสัญญาณมา สองมาจากต้องการความแตกต่างจากคู่แข่งขัน หรือบางรายคู่แข่งมีการปรับไปแล้วจึงรีบปรับตาม หรือเรื่องของภาพลักษณ์ และโอกาสในตลาดต่างประเทศ
วันนี้ผลกระทบไม่ได้อยู่ที่บริษัทใหญ่ แต่บรรดาเอสเอ็มอี ซัพพลายเชนทั้งหลายก็กำลังจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเตรียมรับมือได้แล้ว วันนี้


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

EU เรียกร้องให้มีการจัดทำ carbon footprint

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU Environment Council) ได้มีมติเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการนโยบายส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP)และนโยบายอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrial Policy) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปแสวงหาแนวทางในการคำนวณ carbon footprint โดยให้ศึกษาผลกระทบการเพิ่ม carbon footprint เพิ่มเติมจากระบบการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึง Eco-label (มาตรการโดยสมัครใจ) และการติดฉลากระบุเรื่องการใช้พลังงาน (Energy Labelling) และพัฒนาวิธีการคำนวณโดยสมัครใจซึ่งสามารถใช้ได้ร่วมกัน

2. เห็นชอบกับข้อเสนอในแผนปฏิบัติการ SCP ที่ให้เร่งสร้างระบบเศรษฐกิจที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยใช้คาร์บอนต่ำและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้มาตรการสมัครใจและบังคับควบคู่กัน

3. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป พัฒนาวิธีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงวงจร (ตั้งแต่การผลิต การใช้ การทำลายหรือย่อยสลาย) ตลอดช่วง supply chain และผลกระทบในระดับระหว่างประเทศ โดยใช้พื้นฐานจากนโยบายIntegrated Product Policy (IPP) รวมทั้งให้ประเมินผลการดำเนินการตาม Eco-design Directive ด้วย

4. สนับสนุนการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement : GPP) โดยควรเพิ่มแรงกระตุ้นในระบบตลาดร่วม

5. ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ควรมีการกำหนดเวลา ข้อกำหนดขั้นต่ำและ benchmark ที่คาดการณ์ได้ เพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว

6. การติดฉลาก Eco-label ควรขยายให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทเพิ่มมากขึ้น ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของสินค้าที่จะได้รับการติดฉลากอย่างรวดเร็วและคงความน่าเชื่อถือ โดยให้องค์กรภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบ และเพิ่มการให้ข้อมูลและสื่อสารกับผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตเพิ่มเติม

7. กฎระเบียบเรื่อง Energy Labelling Framework Directive ควรรวมสินค้าประเภทอื่นๆ เข้าไปด้วย จากเดิมระบุเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานของสินค้าไฟฟ้าในครัวเรือนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ Eco-Design Directive และให้เพิ่มข้อมูลตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่นๆเพิ่มด้วย เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์

8. สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำมาตรฐานสินค้าของ EU มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศด้วย

9. คณะกรรมาธิการยุโรปได้เพิ่มความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม โดย 1) สนับสนุนให้การอ้างอิงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมีความถูกต้องและให้มีแนวทางในระเบียบที่ว่าด้วย Unfair Commercial Practices 2) เน้นให้สร้าง Code of Conduct โดยสมัครใจ เพื่อลด carbon footprint ในภาคการค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และ supply chains รวมทั้งตรวจสอบความเป็นจริงของข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีการกล่าวอ้างในสินค้า และ 3) เน้นความสำคัญของ CRS ในการเป็นเครื่องมือโดยสมัครใจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว มีแนวโน้มว่าสินค้าที่จำหน่ายใน EU ในอนาคตจะต้องจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมศึกษาเพื่อเตรียมการและปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU ได้ต่อไป

ที่มา : http://www.mfa.go.th/business/trade_update2.php?id=27981

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

Carbon Footprint Labeling เพิ่มทั้งยอดขายและลดภาวะโลกร้อน

คาร์บอนฟุตพรินท์และฉลากคาร์บอน แนะนำขึ้นครั้งแรกในประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ภายใต้การกำกับดูแลของ Carbon Trust ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภค/บริโภค โดยห้างเทสโก้เริ่มติดฉลาก Carbon Footprint บอกจำนวนคาร์บอนที่ผลิตบนภาชนะบรรจุสินค้าภายใต้ตราสินค้าเทสโก้ของตนเองประมาณ 20 รายการ
ในประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้พัฒนา “ระบบการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน” (Carbon Reduction Label) มีผู้ประกอบการยื่นใบสมัครแล้ว 16 ราย และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองแล้ว 25 ผลิตภัณฑ์ใน 5 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้ง ซีเมนต์ ข้าวสารบรรจุถุง ไม้ฝา และถุงยางอนามัย
สำหรับการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนนั้นจะใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี พ.ศ. 2548 เป็นฐานในการเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2550 มีการแบ่งระดับคล้ายๆกับฉลากไฟเบอร์ 5 ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในสินค้าแต่ละชนิด กล่าวคือ ฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 สีแดง เป็นสินค้าที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด คือ ร้อยละ 10 ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ฉลากเบอร์ 5 สีเขียว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป
ที่มา: “Carbon Footprint Labeling เพิ่มทั้งยอดขายและลดภาวะโลกร้อน” ใน Green Network 1 (Jan 2010) : 34.

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

Carbon footprint ในอังกฤษ

การทำ Carbon Footrpint ยังคงนิยม แต่การติด Carbon Label ชะลอตัวลง
ผู้แทนของบริษัท Camden BRI  กล่าวว่า การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ หรือที่เรียกกันว่า Carbon Footprint นั้น ยังได้รับความสนใจในหมู่ผู้ประกอบการในอังกฤษ เพราะนอกจากเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การที่ในอียูมีโครงการค้าสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU Emission Trading Scheme) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องวัด carbon footprint ของตน เพื่อรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า เป็นไปตามโควต้าที่ได้จัดสรรหรือไม่
แต่สำหรับการทำฉลากแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซให้กับสินค้าหรือบริการเฉพาะอย่าง หรือที่รู้จักกันในนาม Carbon Label  นั้น ในตอนนี้ อาจลดความร้อนแรงลงไปจากปีที่แล้ว โดยองค์การ Carbon Trust ได้ออกฉลาก Carbon Label ครั้งแรกในปี 2007 และมีผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าร่วม เช่น มันฝรั่งทอดกรอบตรา Walkers น้ำผลไม้ smooties ของ Innocent และยาสระผมของ Boots จนในปี 2008 ได้ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อห้าง Tesco ได้สนใจเข้าร่วมโครงการ และติดฉลาก Carbon Label ให้แก่สินค้าหลายประเภทของตน สร้างกระแสความสนใจให้แก่ suppliers ทั้งในและนอกยุโรปว่า ต่อไปจะเป็นกระแสการติดฉลาก Carbon Label และการเรียกร้องให้ suppliers ทั้งในและนอกอียู ให้จัดทำข้อมูล Carbon Footprint ที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าดังกล่าว จะกลายมาเป็นหนึ่งในข้อกำหนดในการค้าขายกับธุรกิจยุโรปหรือไม่
ทว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ภาคธุรกิจอังกฤษได้ชะลอการทำ Carbon Label ใหม่ๆออกมา เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นรีบเร่งที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะในตอนนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และให้ความสำคัญกับเรื่องราคามาเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้  ภาคธุรกิจยังเห็นว่า ผู้บริโภคยังคงสับสน จากการที่ฉลาก Carbon Label ยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และในหลายๆประเทศ ก็ยังไม่มีมาตรฐานกลาง ที่สำคัญ ผู้แทนของบริษัท Camden BRI  ยังเสริมว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดเจนว่า การติดฉลาก Carbon Label มีผลโดยตรงในการช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าหรือบริการ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะ “หยุด” รอดูท่าทีไปสักทีเดียว ห้าง Tesco ยังคงจริงจังและเดินหน้าเรื่องการติดฉลากการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กับสินค้าของตนต่อไป ส่วนห้าง Sainsbury เองก็ยังคงให้ความสนใจอยู่  ในส่วนของทางการอังกฤษ สถาบัน British Standard Institute ได้ร่วมกับ Carbon Trust และกระทรวงอาหารและกิจการในชนบท (DEFRA) เปิดตัวมาตรฐาน PAS 2050 เมื่อตุลาคม 51 ซึ่งจะเป็นมาตรฐานกลางของประเทศในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นมาตรฐานที่ Carbon Trust ใช้วัดและจัดทำ Carbon Label (แต่เรื่องของการทำ Carbon Footprint ยังคงเป็นมาตรการสมัครใจเช่นเดิม และรัฐบาลอังกฤษดูไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนให้เป็นระเบียบข้อบังคับ) และที่สำคัญ ปัจจุบัน กำลังมีการคุยในระดับนานาชาติ เพื่อหามาตรฐานร่วมในการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกรอบ ISO อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

คำจำกัดความน่ารู้เกี่ยวกับ Carbon footprint

คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์ (Carbon footprint of product: CFP) หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases: GHGs) หมายถึง ก๊าซชนิดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และสารประกอบจำพวกฟลูออไรด์ 3 ชนิด คือ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอนและซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม


การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life cycle assessment: LCA) คือ กระบวนการเก็บรวบรวมและการประเมินค่าของสารขาเข้าและสารขาออก รวมถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสกัดหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ กสรใช้ใหม่/การแปรรูปและการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน กล่าวได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to grave) โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะหาวิธีการปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด


ฉลากคาร์บอน (Carbon label) เป็นฉลากที่่แสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ออกสู่บรรยากาศต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ ผ่านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ที่เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ (เช่น การใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิล วัตถุดิบอื่นๆ) ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ (เช่น ของเสียในรูปของกากของเสีย น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ) ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้ในการประเมิน เรียกว่าวัฏจักชีวิตของผลิตภัณฑ์” ดังตัวอย่างฉลากคาร์บอนของประเทศต่างๆ   


                                                        ฉลากคาร์บอนประเทศอังกฤษ
                                                          ฉลากคาร์บอนประเทศญี่ปุ่น
                                                      ฉลากคาร์บอนประเทศสหรัฐอเมริกา
                                                         ฉลากคาร์บอนประเทศเกาหลี
                                               ฉลากคาร์บอนประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ตามรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint)

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซชนิดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ (Greenhouse gases: GHGs) เป็นตัวการสำคัญที่สุดของปรากฎการณ์เรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า การตัดไม้ทำลายป่า การติดตามรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) จึงเกิดขึ้น เพื่อดูกระบวนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในทุกกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตจากภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้พลังงานต่างๆ ล้วนแต่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ออกมาทุกขั้นตอน เอาละซิ  carbon footprint จึงผุดขึ้นมาเป็นดัชนีชี้วัดว่าในแต่ละกิจกรรมมีการปลดปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ สนุกดีนะ และยังไปมีผลเกี่ยวกับทางด้านธุรกิจอีก การตื่นตัวในเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น การนำร่องเพื่อศึกษาสะกดรอย carbon footprint เกิดขึ้นแล้วในประเทศ จะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ไม่เชิง แต่มันกำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแล้วละ เรารู้เรื่องการลดโลกร้อนกันมาเยอะแล้ว แต่ carbon footprint บางคนยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร  นี่ก้เป็นส่วนหนึ่งของการลดโลกร้อนแหละ แต่มันสำคัญอย่างไร จะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

ทักทาย Carbon Footprint Thailand

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ บลอก Carbon Footprint Thailand เพื่อนำเสนอความรู้ ข่าวสารของ carbon footprint, carbon labelling, carbon footprint of organization และ water footprint ในประเทศไทยและต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฉลาก carbon footprint ที่กำลังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจการส่งออก ซึ่งนับวันยิ่งมีบทบาทที่สำคัญทั้งต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค การตื่นตัวในการเลือกใช้สินค้าที่มีฉลาก carbon footprint ในอนาคตกำลังเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของดำรงอยู่ของมนุษย์โลกในยุคปัจจุบัน ประกอบกับในช่วงปี พ.ศ.2554 วิกฤตการณ์และอุบัติภัยทางธรรมชาติได้คุกคาม แสดงถึงอนุภาพในการทำลายล้างความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน พม่า และภาคใต้ของประเทศไทย ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ กำลังเตือนสติพวกเราให้คำนึงถึงผลกรรมที่มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป การช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการชะลอภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เราจะพยายามติดตามข่าวสารด้านเศษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ติดตามความเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเรานะครับ