วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คาร์บอนฟุตพรินท์ ฉลากตัวเล็กๆ เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก

ปัญหาโลกร้อนทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตื่นตัว พยายามคิดค้นหาทางป้องกัน แก้ไขปัญหา และบรรเทาปัญหาผลกระทบ แนวทางหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ การแสดงข้อมูล “คาร์บอนฟุตพรินท์” (Carbon Footprintของผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารไปยังผู้ซื้อและผู้บริโภคด้วยฉลากที่เรียกว่า “ฉลากคาร์บอน” (Carbon Label)
 ในแง่ความหมาย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
 ในแง่ความสำคัญ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้ภาคการผลิตหาแนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน โดยคาดหวังว่า เมื่อผู้บริโภคมีความเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนฟรุตพรินท์  (รวมทั้งมีสินค้าเป็นทางเลือกเพียงพอ)  ผู้บริโภคจะใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการเลือกตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ ซึ่งหมายถึงเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำกว่า และความต้องการสินค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำของผู้บริโภคก็จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแนวทางอันหนึ่งที่นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่หลายประเทศกำหนดไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
 คาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอนได้ถูกพัฒนาและใช้อยู่ในหลายประเทศแล้ว ในกรณีสหราชอาณาจักร ดำเนินงานโดยองค์กรชื่อ “คาร์บอนทรัสต์” (Carbon Trust) เป็นหน่วยงานเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนวางจำหน่ายแล้วมากกว่า 1,000 รายการ สำหรับฝรั่งเศส คาร์บอนฟุตพริ้นท์ถูกริเริ่มและพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ชื่อ “ADEME”  ส่วนฉลากคาร์บอน มีการริเริ่มและพัฒนาเป็นโดยธุรกิจผู้ค้าปลีก Casinoปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนวางจำหน่ายในฝรั่งเศสแล้วมากกว่า 300 รายการ โดยทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะกำหนดให้มีการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับสินค้าทุกประเภทภายในปี 2554     สำหรับในแถบเอเชีย กรณีที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่จะพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์และการติดฉลากคาร์บอนเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว มีโครงการนำร่องมากกว่า 40 บริษัท หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้แนวปฏิบัติในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และมีการเสนอร่างกฎเฉพาะของผลิตภัณฑ์ 41 รายการ
         ในกรณีประเทศไทย การพัฒนา “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Reduction Label) ดำเนินงานโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ประกาศใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม2552  ในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 16 รายการ มีสินค้าหลากหลายกลุ่ม เช่นเครื่องดื่มกระป๋อง กระเบื้องเซรามิคบุผนัง เส้นด้ายยืดไนล่อน ไก่ย่างบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เป็นต้น
          มีตัวอย่างงานศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ข้าวโดย ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง และคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่แสดงให้เห็นว่า หากทราบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เราสามารถคิดหาทางเลือกหรือแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกมาก จากการศึกษาวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม พบว่า ปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมมีค่าเท่ากับ 22 กิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสูดในขั้นตอนการปลูกข้าว คิดเป็น 94% ส่วนขั้นตอนการผลิตภาชนะบรรจุและขั้นตอนการสีข้าว มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 2% และขั้นตอนการจัดจำหน่ายเพียง 1%
          คาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นเครื่องมือเล็กๆ แต่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก ช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการก้าวสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาที่กำลังจะกำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11ของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น