วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาตรฐานสิ่งแวดล้อมจ่อกีดกันสินค้าไทยเพียบ แนะปรับโครงสร้างการผลิตลดปล่อนคาร์บอน

ภาคเอกชนเตือนผู้ผลิตรับมือมาตรการกีดกันการค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เผยทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพราะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากไม่เร่งดำเนินการจะเสียศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ชี้อุตสาหกรรมใช้พลังงานสูง “ไฟฟ้า-เหล็ก-ปูน-เซรามิก” กระทบหนักสุด ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตหันมาใช้พลังงานทดแทน ระบุ วอเตอร์ฟุตพริ้นท์-ISO14067 เตรียมจ่อคุมเข้มสินค้ารักษาสิ่งแวดล้อม
   
       ภาวะโลกร้อนที่คุกคามทุกประเทศอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เป็นต้นเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ของโลกต่างก็นำมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประเทศผู้ผลิตสินค้าปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าประเทศคู่ค้าไม่ปรับปรุงก็จะขายสินค้าได้ยากขึ้น โดยมาตรการล่าสุดที่นำมาใช้จะเป็นการติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศโลก
   
       สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์นี้ จะเป็นมาตรฐานที่วัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางภูมิอากาศที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสินค้าตลอดวัฏจักรชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ นำไปแปรรูป ผลิต จำหน่วย การใช้งาน และการกำจัดผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยจะแสดงข้อมูลไว้บนฉลากคาร์บอนที่ติดบนสินค้าเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จะใช้นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด
   
       อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือได้ว่ามีความพร้อมรับมือกับมาตรฐานใหม่นี้ในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งอกอาหารชั้นนำ และปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้มาโดยตลอด ส่วนมาเลเซียพึ่งเริ่ม ขณะที่ประเทศชั้นนำในเรื่องนี้ที่อยู่ในเอเชียก็จะเป็นประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ติดฉลานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในหลายสินค้า
   
       ทั้งนี้ล่าสุดไทยมีสินค้าที่ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นนี้แล้ว 110 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็ยบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ อาหารสัตว์ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก และยาง เป็นต้น นอกจากฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นแล้วไทยยังมีฉลาก Carbon Reduction และได้ติดให้กับสินค้าไปแล้ว 40 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัสดุก่อสร้าง เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานในการผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นสิ่งทอ อาหาร พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
   
       เตือนรับมือคาร์บอนฟุตพริ้นท์กีดกันการค้า
   
       ด้าน พรศิลป์ พัชรินทรตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นเป็นสิ่งที่ไทยไม่สามารถเลี่ยงได้ และจะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สินค้าทุกชนิดจะต้องเร่งทำมาตรฐานนี้ให้มีตัวเลขการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยกว่าสินค้าคู่แข่ง เพราะผู้บริโภคในยุโรปตื่นตัวในเรื่องนี้มากเนื่องจากเห็นได้ชัดว่าภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมที่จะอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และในอนาคตจะยกขึ้นมาเป็นมาตรการกีดกันการค้าในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ แต่แตกต่างจากการเจรจาลดภาษีนำเข้า เพราะมีตัวเลขชัดว่าจะลดภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่มีมาตรฐานชี้วัดที่ชัดเจน
   
       จี้ปรับโครงสร้างการผลิตรับมือ
   
       โดยการที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์นี้ลำพังบริษัทผู้ผลิตทำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพราะในแต่ละขั้นตอนต่างก็ปล่อยคาร์บอนต่างกัน ไม่สามารถลดที่ปลายทางฝ่ายเดียวได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติการผลิตครั้งใหญ่ โครงสร้างการผลิตของไทยจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
   
       รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเจรจากับประเทศคู่ค้า เพราะที่ผ่านมาประเทศที่พัฒนาแล้วจะออกกฎหมายก่อนแล้งจึงนำกฎหมายนั้นมาเจรจา แต่สำหรับไทยไปเจรจาตกลงกันแล้วค่อนออกกฎหมายมารองรับทำให้เสียเปรียบในเวทีเจรจา ซึ่งการเจรจาในเรื่องนี้ไทยต้องพลิกเกมส์ขึ้นมาเป็นฝ่ายรุก ต้องมีข้อมูลต่างๆที่หนักแน่นและมีกฎหมายรองรับเพื่อนำไปตอบโต้ในโต๊ะเจรจา จะทำให้ไทยพลิกขึ้นมาเป็นผู้นำเกมส์ได้
   
       แนะไทยเร่งออกกฎกันต่างชาติบุกตลาด
   
       สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้แม้ว่ายังไม่ได้ออกมาเป็นกฎที่ชัดเจน แต่เป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะยังไม่มีกติกาที่แน่ชัด แต่ภาคเอกชนร้านค้าต่างๆ เช่น เทสโก้ในยุโรปก็บังคับให้ติดฉลากนี้แล้ว ถ้าสินค้าใดไม่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก็จะเข้าสู่ตลาดไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นของไทยก็คือภาคเอกชนต่างไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขต่างๆทำให้ขาดฐานข้อมูลในการคำนวน ซึ่งถ้าหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและจัดทำมาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของไทยได้สำเร็จ ก็จะเป็นมาตรการที่สำคัญในการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนให้เข้ามาแข่งขันในไทยได้ยากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากจีนหรือประเทศคู่แข่งอื่นๆทำได้ก่อนไทย มีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าก็จะเป็นกำแพงกั้นสินค้าไทยได้เช่นกัน
   
       “ไฟฟ้า-เหล็ก-ปูน”กระทบหนักสุด
   
       ส่วนสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มากที่สุด จะเป็นสินค้าที่ใช้พลังงานมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า เหล็ก ปูนซิเมนต์ เซรามิก และธุรกิจขนส่ง โดยเพาะโรงไฟฟ้าถ้าไม่ปรับปรุงกระบวนการผลิตปล่อยให้มีปริมาณปล่อยคาร์บอนมากก็จะกระทบไปทุกสินค้า เพราะเป็นต้นทางการผลิตที่สำคัญของทุกสินค้า ดังนั้นแม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออก แต่ถ้าไม่ร่วมมือปรับปรุง ก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบการผลิตได้ ซึ่งภาคเอกชนจะต้องลดการใช้ไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากที่สุด หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน จะทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนได้มาก
   
       วอเตอร์ฟุตพริ้นท์เตรียมจ่อกันสินค้าอาหาร
   
       อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเป็นมาตรการกีดกันที่สำคัญ ในอนาคตยังมีมาตรฐานวอเตอร์ฟุตพริ้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการใช้น้ำเข้ามาเป็นกำแพงกีดกันมากขึ้นไปอีกและจะมีการนำมาใช้ในไม่ช้านี้รัฐสภาสหรัฐกำลังพิจารณากฎหมายฉบับนี้อยู่ เพราะทรัพยากรน้ำค่อยๆหมดไปจากโลก โดยเฉพาะในสินค้าอาหารจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องใช้น้ำในปริมาณมากตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ ดังนั้นจะต้องเริ่มจากเกษตรกรที่จะต้องปลูกพืชเลี้ยงสัตว์โดยใช้น้ำให้น้อยที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องตื่นตัวเข้ามาผลักดันในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด
   
       ชี้ ISO14067 มาตรฐานใหม่สินค้าโลก
   
       ไม่เพียงแต่มาตรฐานคาร์ฟุตพริ้นท์จะเข้ามาเป็นกำแพงกีดกันสินค้าไทย แต่ในอนาคตอันใกล้ ยังมีมาตรฐาน ไอเอสโอ14067 จะเข้ามากีดกันสินค้าไทย โดย บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า มาตรฐาน ไอเอสโอ 14067 นี้อยู่ระหว่างการการพิจารณาของประเทศสมาชิก ซึ่งถ้าออกมาเป็นมาตรฐานฉบับใหม่แล้วจะมีอิทธิพลทางการค้าในภาคเอกชนมาก เหมือนกับมาตรฐาน ไอเอสโอ ต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้ และจะเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่สำคัญ เพราะผู้ซื้อจะเรียกร้องมาตรฐานนี้โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะเน้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
   
       อย่างไรก็ตามมาตรฐาน ไอเอสโอ 14067 นี้มีความใกล้เคียงกับมาตรฐาน PAS 2050:2008 ของอังกฤษ ซึ่งผู้ส่งออกไทยจำนวนมากก็สามารถผ่านมาตรฐานนี้ได้แล้วโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ก็ต้องดูในขั้นสุดท้ายว่าผลสรุปแล้วมาตรฐาน ไอเอสโอ 14067 จะมีความเหมือนและต่างจาก PAS 2050:2008 มากแค่ใหน ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เร่งเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานนี้ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะเป็นแรงกดดันให้ทุกภาคการผลิตแข่งขันกันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซ์ เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น



ที่มา: http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048125

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น