ปัจจุบันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas; GHG) เป็นแนวทางหลักที่นานาชาติเห็นพ้องร่วมกันในการบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีในการลดการปล่อย GHG ภายใต้พิธีสารเกียวโตได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อย GHG จากภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ หนึ่งในนั้นคือการแสดงค่า Carbon footprint (CF) หรือปริมาณรวมของ GHG ที่แสดงในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าและบริการคาร์บอนต่ำอันนำไปสู่การลดการปล่อย GHG ของประเทศนั้น ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยในฐานะผู้รับจ้างผลิตและผู้ส่งออกสินค้าจึงได้รับผลกระทบจากมาตรการ CF อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาสถานภาพการดำเนินงาน CF และการออกฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยประมวลข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบของ CF และฉลาก Carbon Footprint ต่อสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรส่งออกสำคัญ 20 รายการที่ส่งไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่มีความตื่นตัวเรื่อง CF รวมทั้งโอกาสและศักยภาพในการสร้างความสามารถในการแข่งขันในด้านสินค้าคาร์บอนต่ำของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดดังกล่าว ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในปี 2553-2554 มีสินค้าส่งออกสำคัญถึง 13 รายการที่จะได้รับผลกระทบจาก Carbon footprint คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2552 มากกว่า 6.3 แสนล้านบาทต่อปี และมีความเป็นไปได้ที่ CF จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยรายอื่นๆ นำมาใช้ในการพิจารณาสั่งซื้อสินค้าต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น