วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ซีพี-มาม่า-องุ่น”แห่ติดฉลากคาร์บอน ขี่กระแสลดโลกร้อนหวังบุกตลาดตปท.

กระแสโลกร้อนมาแรง เอกชนแห่ขอติดฉลากคาร์บอนทั้งรายเล็กรายใหญ่เกือบ 100 บริษัทกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ นำทีมโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอติดฉลากมากที่สุด ตามมาด้วยมาม่า สหพัฒน์, โค้กกระป๋อง, เบทาโกร, ซีเล็คทูน่า, เขียวหวานการบินไทย, น้ำมันพืชองุ่น ไปจนกระทั่งถึงเสื้อแอร์โร่ว์ ชี้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต้องการสินค้าลดโลกร้อน ใครไม่ทำมีสิทธิตกขบวน แข่งขันไม่ได้

นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ อบก.ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชน ติดฉลากคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ปรากฏขณะนี้มีเอกชนจำนวนมากมาขอการรับรองติดฉลากคาร์บอนไปแล้วมากกว่า 100 บริษัท 300 ผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ อบก.ได้ให้การรับรองฉลากคาร์บอน 3 รายการ ได้แก่ 1) คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หมายถึง ฉลากที่ระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ-การขนส่ง-การประกอบชิ้นส่วน-การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบัน ได้รับการรับรองไปแล้ว 52 บริษัทจำนวน 196 ผลิตภัณฑ์ อาทิ บริษัทซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ขอติดฉลากในผลิตภัณฑ์ไก่ย่างเทอริยากิ-เนื้อไก่สด-ไก่ห่อสาหร่าย-อาหารไก่, บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทราโกร จำกัด (มหาชน) อาหารไก่เนื้อเบอร์ 203 และบริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน)
2) ฉลากลดคาร์บอน (Carbon reduction label) หมายถึง ฉลากที่แสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ โดยการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) หรือสินค้าตั้งแต่การจัดเตรียมวัตถุดิบ-การผลิต-การใช้และการจัดการหลังการใช้ได้รับรองแล้ว 29 บริษัท จำนวน 130 ผลิตภัณฑ์ อาทิ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์ ผงพลาสติกพีวีซี, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก, บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวตราวังขนาย และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง
3) คูลโมด (Cool Mode) หมายถึง ฉลากที่ติดในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนหรือเสื้อผ้าเพื่อบอกถึงคุณสมบัติผ้าชนิดนั้น ๆ เป็นผ้าลดโลกร้อน สวมใส่แล้วเย็นสบายและทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อลดการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ การซักทำความสะอาด และการใช้น้ำ ปัจจุบัน อบก.ให้การรับรองไปแล้ว 6 บริษัท จำนวน 15 โครงสร้างผ้า อาทิ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
“ขณะนี้เอกชนให้ความสำคัญกับฉลากคาร์บอนมาก เช่น บริษัท ซีพีเอฟ ที่มีการตั้งทีมงานขึ้นมาคำนวณการปล่อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท พร้อมทั้งจ้างหน่วยงานทวนสอบจากการคำนวณดังกล่าว เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้นำเข้าที่ต้องการตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแสดงให้กับผู้บริโภคเห็น” นายศิริธัญญ์กล่าว
มีข้อน่าสังเกตว่า ทิศทางการพัฒนาในขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น การดำเนินการหลาย ๆ อย่างถูกนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องของโลกร้อน รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบควรจะต้องมีเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ-สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ปัจจุบันจะไม่มีประเทศไหนบังคับให้สินค้าต้องติดฉลากคาร์บอน แต่หากผู้ประกอบการรายไหนสามารถดำเนินการได้ก็จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าที่ไม่ได้ติดฉลาก หรือสร้างโอกาสการขายสินค้ามากขึ้น รวมถึงในอนาคตที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาจจะประกาศบังคับใช้ให้ ผู้ผลิต-ผู้นำเข้าติดฉลากคาร์บอน ดังนั้นการดำเนินการขณะนี้จึงเท่ากับเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าได้
สำหรับขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนและรับรองฉลากคาร์บอนจะเริ่มต้นจากบริษัทผู้ขอการรับรองจะต้องคำนวณค่าคาร์บอนที่ปล่อยหรือลดได้จากกระบวน การผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จากนั้น จะเป็นกระบวนการทวนสอบข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยให้บริษัทประสานงานกับผู้ทวนสอบที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. (Registered Carbon Footprint Verifier) เพื่อทวนสอบและรับรองข้อมูลปริมาณคาร์บอน และนำผลการคำนวณที่ได้จากผู้ทวนสอบไปแจ้งกับสำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การ มหาชน) ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ นำเสนอต่อคณะทำงานฯ เพื่อขออนุมัติติดฉลากต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น