วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนพอเพียง


ขอสรุปบทสัมภาษณ์ รศ. ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร รองผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Joint Graduate School of Energy and Environment – JGSEE) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์วารสาร Horizon ลงในฉบับที่ ๒๔ (April-June ๒๐๑๐) เกี่ยวกับ สังคมคาร์บอนพอเพียง หรือ Sufficiency Carbon Society น่าสนใจเป็นอย่างมากทีเดียว
อาจารย์เริ่มจากการให้ความหมายของ Low Carbon Society ก่อน เพราะยังคงมีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนอยู่ระหว่างคำ ๓ คำ คือ Low Carbon Economy, Low Carbon Society และ Low Carbon City
Low Carbon Economy จะเน้นไปทางเทคโนโลยีกับเศรษฐศาสตร์ เน้นไปที่การนำเทคโนโลยีสะอาดมาช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้า Low Carbon City จะใช้พื้นที่เป็นหลัก เน้นไปที่เมือง เมืองใดเมืองหนึ่งที่จะเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ มีการวิธีการจัดการอย่างไร … ลดได้เท่าไร ศึกษาเชิงพื้นที่เป็นหลัก ส่วน Low Carbon Society จะพูดถึงหลัก ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ Carbon Minimization จะต้องเป็นสังคมที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ แล้วการลดเป็นการลดแบบไหน อันดับที่สอง คือ Simpler and Richer หมายถึง มีการลดในชีวิตประจำวันด้วยวิธีง่าย ๆ มีความเต็มใจในการลดและยังสามารถสร้างรายได้ ส่วนอันดับที่สาม คือ Co-Existing with Nature เป็นเรื่องของการปรับตัวเองให้เข้าสู่ภาวะโลกร้อนทีเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความหมายของ Low Carbon Society จึงมีความกว้างกว่าตัวเทคโนโลยีอย่างเดียว เป็นเรื่องของการบรรเทา (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของคนในสังคมด้วย แต่ด้วยคำว่า Low Carbon Society ถูกผลักดันมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มาก่อนจึงให้ความสำคัญที่เทคโนโลยีเป็นหลัก
สำหรับ Low Carbon Society ในบริบทของสังคมไทย จะเห็นว่า Simpler and Richer จะเน้นเรื่องความสบายใจในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ ก็เข้ากันได้ดีกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่ Co-Existing with Nature ในบริบทไทย ชุมชนที่นำเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปพัฒนา ก็จะรูปแบบในการดำเนินชีวิตที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี และรักษาธรรมชาติได้ดีด้วย เหมือนชุมชนบ้านเปร็ดใน อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพราะชุมชนเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไป มีวิธีคิดที่จะรักษาธรรมชาติ ไม่ได้มองที่ตัวเองเป็นหลัก แต่จะสร้างระบบเป็นหลักทำอย่างไรให้อยู่กับธรรมชาติได้ แล้วการที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ก็ทำให้สามารถลดโลกร้อนได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าคนไทยทั้งประเทศทำแบบชุมชนบ้านเปร็ดใน ภาพรวมการปล่อนในประเทศก็ลดลง ต้องช่วยกันทำด้วยความเต็มใจ มันไปด้วยกันระหว่าง Low Carbon Society กับเศรษฐกิจพอเพียง
การจะเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต้องมีความเข้าใจเป็นหลักก่อน ว่าทำไมต้องทำสังคมคาร์บอนต่ำ ต้องมีความเข้าใจในเรื่งอของการทำอย่างไรจึงจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในการลดก๊าซเรือนกระจกต้องมีทั้งเทคโนโลยี และ เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ๒ สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน
ในตะวันตก มีการสร้างระบบชัดเจนในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการวางเป้าหมายร่วมกัน ใช้ในเชิงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอาคนที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันมองหาโอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถวางแผนในการลดก๊าซร่วมกัน สร้างแผนร่วมกัน แต่ถ้าจะเอามาใช้ในไทย ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนมากๆ เข้ามาร่วมดำเนินการ ร่วมกันช่วยกันคิด ตอนนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กำลังพยายามเริ่มมองเมืองต้นแบบ Low Carbon Society และจะพัฒนาคู่มือ
ที่มา: Sufficiency Carbon Society มาสร้าง ‘สังคมคาร์บอนพอเพียง’ ด้วยกัน. ๒๔ (April-June ๒๐๑๐): ๓๖-๔๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น