ในภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น สาเหตุสำคัญคงหนีไม่พ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้พลังงาน การพัฒนาและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งสิ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดการสร้างสังคม “คาร์บอนต่ำ” (Low-Carbon Society) ที่มีหลักการในการเน้นกระบวนการหรือกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ สวทช. และ 10 องค์กรนำร่องจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จัดทำ “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ Carbon Footprint for Organization (CFO)” โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ได้รับประกาศนียบัตรในฐานะองค์กรนำร่องที่ดำเนินโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จาก ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เอ็มเทค
(เอ็มเทคร่วมเป็นเจ้าภาพโครงการฯ)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร คืออะไร?
การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร หรือ CFO เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร และคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าในเชิงปริมาณเป็นกิโลกรัมหรือตัน สำหรับประเทศไทยการจัดทำ CFO ยังมีน้อยมาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับ สวทช. และอีก 10 องค์กรนำร่องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” (ลงนามเมื่อ 18 พ.ย. 53) เพื่อกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือหรือแนวทาง (Guideline) ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรในประเทศไทยต่อไป
การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรไม่ได้จำกัดขนาดหรือลักษณะของกิจกรรม อาจเป็นองค์กรของรัฐ สถาบันการศึกษา หรือภาคธุรกิจก็ได้ ซึ่งการดำเนินการจัดทำ CFO ไม่เพียงจะได้ผลตอบแทนในเรื่องต้นทุนที่จะลดการใช้พลังงานจากระบบการทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรอีกด้วย
ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรได้มาอย่างไร?
การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการคำนวณหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น Scope ดังนี้
Scope I: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การใช้ LPG และเชื้อเพลิงอื่นๆ ในห้อง Lab การใช้สารเคมีต่างๆ อาทิ สารทำความเย็น สารในห้องปฏิบัติการ สารเคมีในระบบบำบัดน้ำเสีย หรือการขนส่งโดยพาหนะขององค์กร เป็นต้น
Scope II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การใช้กระแสไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเอง
Scope III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่นๆ (Other Indirect Emissions) เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หรือการใช้น้ำ เป็นต้น
คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรทำแล้วได้อะไร?
การประเมิน CFO สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางบริหารจัดการลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับองค์กร รวมทั้งแสดงถึงภาพลักษณ์องค์กรที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศด้วย ทั้งนี้ การจัดทำ CFO มีแนวโน้มจะเป็นมาตรฐานที่องค์กรต่างๆ ให้การยอมรับมากขึ้นเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรม Green NSTDA เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 พบว่า สวทช. ลดการใช้พลังงานไปได้เฉลี่ย 8.3% จัดทำโครงการกระดาษหน้าที่ 3 เพื่อน้อง ทำให้ลดทรัพยากรในการผลิตกระดาษเทียบเท่าต้นไม้ 21 ต้น ไฟฟ้าเกือบ 5,000 kWh น้ำ 38,319 ลิตร คลอรีน 8.5 กก. ซึ่งเท่ากับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) 4,412 กก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น