วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนต่ำ4

ความพยายามที่ท้าทายที่สุดของประชาคมโลกในการหยุดยั้งความเสียหายของโลกใบนี้ซึ่งบอบช้ำจากน้ำมือมนุษย์มานานนับศตวรรษ ทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง การผลิตก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล รวมทั้งการทำลายระบบนิเวศน์ในพื้นต่างๆเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีข้อผูกพันให้ประเทศต่างๆต้องลดก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต (เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ของระดับก๊าซในปี 1990) และเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้นวาทกรรมเรื่อง “สังคมคาร์บอนต่ำ” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาในวงกว้างในฐานะโมเดลของสังคมในอนาคตและทางรอดของมนุษยชาติ
สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนน้อย และแทนที่การใช้พลังงานรูปแบบเดิมด้วยพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆที่พัฒนาจากเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ในหลายประเทศเริ่มมีการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการวางระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีสัดส่วนครอบคลุมถึงร้อยละ 46.7 ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งไปได้จำนวนมหาศาล และจากความเอาจริงเอาจังของภาคส่วนต่างๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 2.55 ล้านตัน ในช่วงปี 2005-2006
สำหรับประเทศไทย การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำยังคงเป็นเพียงกิจกรรมและโครงการขนาดเล็ก หรืออาจกล่าวได้ว่าเรายังอยู่แค่ในช่วงศึกษาค้นคว้าเท่านั้น โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความพร้อมให้สังคมในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีขอบเขตการทำงานแบ่งเป็น 3 ด้านคือ (1) การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสภาพเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างยุทธศาสตร์ในการปรับตัว เช่น การศึกษาวิจัย (2) การสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลด้านอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (3) การประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อนำฐานข้อมูลไปประยุกต์กับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น การคำนวณ carbon footprintอย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคสำคัญ 4 ประการที่ทำให้สังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ

หากประเทศไทยต้องการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ปัญหาอุปสรรคทั้ง 4 ประการแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐเพื่อให้เป็นกลไกในการผลักดันภาคส่วนอื่นๆของสังคม
  1. การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพคือ การใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่ยังคงได้ประโยชน์เท่าเดิม ซึ่งนอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว สังคมไทยยังต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงในครัวเรือน
  2. การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตไฟฟ้าไปได้อย่างมาก ในปัจจุบันมีการใช้พลังงานหมุนเวียนบางประเภทในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตประเภทพลังงานหมุนเวียนให้กว้างขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานในรูปแบบดังกล่าวในอุตสาหกรรมและครัวเรือนอย่างเป็นระบบ
  3. การลดการสูญเสียป่าและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน ในประเทศไทยเองนับว่ามีพัฒนาการเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืน มีการส่งเสริมและให้ความรู้แนวคิดดังกล่าวจนปัจจุบันสามารถขยายผลไปถึงในระดับท้องถิ่น แต่ที่ยังคงเป็นปัญหาคือเรื่องการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าซึ่งแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาแต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ของนายทุนอยู่เป็นจำนวนมาก
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า ไปจนถึงการสร้างนิสัยการบริโภคอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งในสังคมไทยมีการรณรงค์ในประเด็นเหล่านี้จากทั้งทางภาครัฐ และเอกชนแต่ก็ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติและยังไม่สามารถวัดผลได้เท่าที่ควร
Mr. Martin Krause หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ศูนย์โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNDP Asia-Pacific Regional Centre) ได้เสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ว่า รัฐบาลควรเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแต่ควรปล่อยให้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกและควรหันมาอุดหนุนราคาไบโอดีเซลแทนจะดีกว่า แม้ไบโอดีเซลจะใช้พลังงานชีวมวลซึ่งจะปล่อยคาร์บอนเช่นกันแต่ก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเกษตรกรก็เผาเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในหลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ สังคมไทยเองมีจุดแข็งในด้านภูมิปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว หากเพียงแต่เราจะพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำร่วมกับลงมือลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นแล้ว ลูกหลานของเราคงจะอยู่ในสังคมที่ไม่มั่นคงอย่างมาก และไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น