วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนต่ำ2

สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society มีความหมายตรงตัว ไม่ได้ซับซ้อนอะไร กล่าวคือ เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ (เชื้อเพลิงส่วนใหญ่อยู่ในรูปของคาร์บอน) โดยอาศัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การใช้พลังงานแบบเดิมๆ แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี

แนวคิดนี้ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มและกำลังเป็นผู้นำในการปฏิบัติ รวมทั้งชักชวนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศลูกหม้อในเอเชียให้เจริญรอยตามไปด้วย

เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเอเชีย สิ่งที่ ญี่ปุ่นทำมิใช่มุ่งหวังแค่ผลด้านสิ่งแวดล้อม เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจการค้าของตนด้วย ญี่ปุ่นหวังว่าสังคมคาร์บอนต่ำจะต้องมีผลเปลี่ยนแปลงสังคมและวิถีชีวิตของชุมชนใหญ่น้อยของโลกในอนาคตข้างหน้า โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางพลังงานใหม่ๆ ของญี่ปุ่นไปอีกหลายสิบปี ก่อนจะสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมของตนเองขึ้นมาได้ หรืออาจจะทำไม่ได้เลยเพราะมัวแต่ทะเลาะกันในสภาฯ

ญี่ปุ่นวางเป้าหมายการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ในเบื้องต้นว่า จากนี้ถึงปี 2020 จะเป็นช่วงทำความเข้าใจกับแนว คิดการบริหารจัดการและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะมีการลดก๊าซได้เพียง 25% จากระดับในปี 1990

เป้าหมายระยะกลางจากปี 2020 ถึงปี 2030 เพิ่มการลดก๊าซเป็น 40% และก้าวกระโดดเป็น 80% ภายปี 2050 สำหรับเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งจะเป็นจุดที่ประชาชนรุ่นใหม่มีความรู้ฝังอยู่ในจิตสำนึกโดยสมบูรณ์ และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็น ชาติหนึ่งที่ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ และมีฐานการพัฒนาที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ อยู่หลายขุม จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป้าหมายที่วางไว้ คงเป็นไปได้ตามเป้า

หลายเรื่องที่ญี่ปุ่นพัฒนาและเป็นฐานที่ดีสู่การพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ล้ำหน้ากว่าใคร ยกตัวอย่างเช่น

- อุตสาหกรรมผลิตเหล็กและซีเมนต์ซึ่งใช้พลังงานสูงมาก แต่ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานโดยสามารถผลิตเหล็กได้ด้วยการใช้พลังงานน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 1-1.25 เท่า

- ญี่ปุ่นมีระบบขนส่งมวลชนประสิทธิภาพสูง แพร่ขยายครอบคลุมเป็นสัดส่วนถึง 46.7% ขณะที่ประเทศชั้นนำอื่นๆ มีอัตราครอบคลุมน้อยกว่า ได้แก่ เยอรมนี 20.7% ฝรั่งเศส 16.1% สหรัฐฯ 22.4% และอังกฤษ 13.1%

- มีอัตราการเติบโตของยอดขายรถประหยัดพลังงาน เช่น รถยนต์ไฮบริดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007

- ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเซลล์ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (solar cells) รายใหญ่ที่สุดในโลก

- ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นประหยัดพลังงานได้สูงที่สุดในโลก

- ญี่ปุ่นใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนถึงหนึ่งในสาม

- และที่ภาคภูมิใจสุดๆ คือการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการลดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 2.55 ล้านตัน ในช่วงปี 2005-2006

กลไกที่ผลักดันให้นโยบายการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดได้จริง ญี่ปุ่นทำทั้งภาคบังคับและสมัครใจ

ในการบังคับใช้วิธีกำหนดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อรัฐ และเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สู่สาธารณชน

ส่วนมาตรการจูงใจและเชิญชวนใช้วิธีออกมาตรฐานประหยัดพลังงาน เชิญชวนให้เกิดการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หากทำไม่ได้รัฐบาลจะแนะนำช่วยเหลือ เท่าที่ผ่านมามาตรการนี้ทำให้เกิดการแข่งขันในทางคุณภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 42% ตู้เย็น 55% จอทีวีและคอมพิวเตอร์ 73.6%

ในด้านการบริหารปกครอง ก็มีมาตรการที่จะให้ท้องถิ่นต่างๆ ลดก๊าซตาม สภาพภูมิประเทศและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน ตัวอย่างเช่น ในระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สิ่งแวดล้อมประกาศตัวต่อประชาคมโลกว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในการลดโลกร้อน ไม่ว่า มติจาก Post Kyoto Protocol จะออกมาเป็นอย่างไร สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง จากระดับผู้บริหารประเทศสู่ประชาชนทั่วไป จนเท่าที่ผ่านมามีกิจกรรมออกมาเป็นรายวัน มีอาสาสมัครเป็นผู้ให้ความรู้และแนะนำการปฏิบัติที่ดี รวมทั้งมีหลายกิจกรรมที่เป็นไปในทางพอเพียงเช่นเดียวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำกันในประเทศไทย แต่ญี่ปุ่นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Eco-life”

และที่น่าจับตามองคือ มาตรการ “Local production for local consumption” หรือโครงการผลิตในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่น โดยรัฐให้การรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งพาตนเองได้ แตกต่างจากบ้านเราที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นการรับรองเพื่อส่งไปขายในเมืองใหญ่และเมืองนอก แต่มีแนวโน้มกลายมาเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของนักลงทุนที่ใช้แรงงานของท้องถิ่น ประโยชน์จึงตกอยู่ที่นักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านท้องถิ่นก็ยังคงยากจนอยู่เหมือนเดิม

ถ้าเป็นในสังคมเอง แนวทางหลักจะเน้นไปที่เรื่องนวัตกรรมการ Recycle ของเสียต่างๆ การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน การจัดโซนนิ่งการใช้ที่ดินและการสร้าง green buildings ภายใต้การรณรงค์ อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจแบบ small office และ home office อุปกรณ์ไฟฟ้าและยานพาหนะมีจอติดตั้งเพื่อแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สร้างอิมเมจของครอบครัวทันสมัยที่มีการประหยัดพลังงานทุกรูปแบบและมีสวนผักอยู่บนหลังคา โดยประเมินว่าครอบครัวหนึ่งมีศักยภาพลดคาร์บอนได้ถึง 50%

หากมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา

เมืองไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ เมืองไทยมิใช่ด้อยน้อยหน้าญี่ปุ่นจน เกินไป เรามีพื้นฐานของสังคมที่พอเพียงอยู่แล้ว มีภูมิปัญญา มีทรัพยากรธรรมชาติ เหลือเฟือ และมีศูนย์รวมของการร่วมแรงร่วมใจคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณริเริ่มโครงการต่างๆ ขึ้นมามากมายที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อปวงชนอย่างแท้จริง

หากเราพยายามชูจุดแข็งเหล่านี้ควบคู่ไปกับการค้นคว้านวัตกรรมที่เหมาะสม เราก็อาจก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างภาคภูมิใจไม่น้อย ขอแต่เพียงมีเจตนา ที่มุ่งมั่น อย่ากล้าๆ กลัวๆ อิงกับการพัฒนา เศรษฐกิจแบบ GDP มากจนเกินไป เราก็คงจะเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของไทยในหลายๆ ด้านยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะการที่เรายังไม่มีความจริงจังในการผันนโยบายออกมาเป็นการปฏิบัติจริง เรายังคงไม่กล้าใช้กฎหมายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และการใช้ที่ดินอย่างจริงจัง

ซึ่งต้นตอของปัญหาก็หนีไม่พ้นอุปสรรคแบบเดิมๆ คือ การแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง การขาดธรรมาภิบาลของเจ้าหน้าที่ผู้บริหารผู้ปกครอง และจริยธรรมของนักลงทุน ซึ่งยังมีจำนวน ไม่น้อยที่ออกมาทำ CSR ด้วยอารมณ์เพื่อสร้างภาพมากกว่าคิดถึงสิ่งแวดล้อมส่วนรวมอย่างแท้จริง   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น