วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนต่ำ1

เมื่อเทียบกับก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้อื่นๆ แล้ว กิจกรรมของมนุษย์นับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ปลดปล่อย “คาร์บอน” มากกว่าก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ และนำไปสู่แนวคิดในการสร้างสังคม “คาร์บอนต่ำ” ที่มีโจทย์อันท้าทายว่าเศรษฐกิจต้องเดินหน้าไปด้วย
       
       มร.มาร์ติน เคราส์ (Mr.Martin Krause) หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ศูนย์โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNDP Asia-Pacific Regional Cantre) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงอุปสรรคของการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่ามี 4 เรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จ คือ 1.ประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า 2.การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน 3.การลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน และ 4.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปิดไฟเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต้องเผาพลาญเชื้อเพลิง เป็นต้น
       
       ส่วนนโยบายเพื่อสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำของยูเอ็นดีพีนั้น มร.เคราส์ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่จะนำไปสู่การลดคาร์บอนในเมืองไทยที่ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ จ.แม่ฮ่องสอน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก และโครงการสำรวจประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร โดยยูเอ็นดีพีให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจอาคารที่เข้าร่วมในโครงการ ซึ่งมีทั้งโรงแรียนและโรงพยาบาลว่าสามารถลดการใช้พลังงานในส่วนใดได้บ้าง และเสนอเป็นแผนการจัดการเพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
       
       สำหรับข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายแก่รัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น มร.เคราส์กล่าวว่ารัฐบาลควรจะเลิกหนุนราคาน้ำมันดีเซล และปล่อยให้ราคาใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก และหันมาหนุนราคาไบโอดีเซลแทนจะดีกว่า และให้ความเห็นด้วยว่าเราสามารถใช้พลังงานทดแทนได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่า ต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีหลากหลายเทคโนโลยี เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานน้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ได้ หรือจะยอมรับความเสี่ยงจากพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความเสี่ยงสูง
      
       “หลายคนอาจบอกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลก็ปลดปล่อยคาร์บอนเช่นกัน ใช่ แต่การปลดปล่อยนั้นไม่ได้เพิ่มปริมาณการปลดปล่อย เพราะยังไงเสียเกษตรกรก็เผาเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นอยู่แล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนมาเป็นพลังงานเสียเลย ส่วนพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ปล่อยคาร์บอนก็จริงแต่มีความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและความเสี่ยงจากการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งยูเอ็นดีพีไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าต้องการจะเสี่ยงหรือไม่” มร.เคราส์ให้ความเห็น
       
       พร้อมกันนี้ในการเปิดงานสัมมนา “อนาคตของสังคมคาร์บอนต่ำ: ใต้วิสัยทัศน์เอเชียแปซิฟิกภายในปี 2050” (The Future of Low-Carbon Society: An Asia-Pacific Vision Beyond 2050) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.53 ณ โรงแรมคอนราด ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีกิจกรรมและการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดการปลดปล่อยและปรับตัวรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แบ่งได้เป็น 3 ขอบเขต
       
       ขอบเขตแรกเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยุทธศาสตร์ในการปรับตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนาหลายโครงการ เช่น งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาพันธุ์พืชเพื่อทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พืชทนแล้ง-ทนน้ำท่วม หรือการพัฒนาโรงเรือนที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เป็นต้น
       
       ขอบเขตที่ 2 เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ ซึ่งงานในขอบเขตนี้ยังรวมถึงการพัฒนาแบบจำลองที่อาศัยข้อมูลภาพถ่ายระยะไกลหรือรีโมตเซนซิง (Remote Sensing) อย่างข้อมูลอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งส่งต่อไปยัง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อสร้างแบบจำลองต่อไป
       
       ขอบเขตสุดท้ายเป็นเรื่องการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. มีบทบาทนำในเรื่องนี้ โดยฐานข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิตนั้นนำไปสู่การประยุกต์ที่หลากหลาย เช่น การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon footprint) ของผลิตภัณฑ์หรือการทำงานขององค์กรต่างๆ ได้ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องให้นักวิทยาศาสตร์ของเรานั้นแสดงความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เราเชื่อมั่นได้ว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นจะมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


ที่มา: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000121737

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น