วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สังคมคาร์บอนต่ำ3

คนทั่วไปอาจยังไม่รู้จักมันดี แต่สำหรับคนในแวดวงสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรียกว่า“โลว์คาร์บอน โซไซตี้”หรือสังคมคาร์บอนต่ำ คือชะตาโลกที่จะมาถึงภายในระยะเวลาไม่เกิน 40 ปีข้างหน้า และมนุษย์ทุกคนบนโลกจะได้รับเกียรติ ให้เป็นผู้เล่าประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของพวกเขาเอง



เหตุเกิดที่ 2050

จะเป็นไรไปเล่า ถ้าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริง แน่นอน...มันเป็นเรื่องจริงของมนุษย์โลกคนหนึ่งที่หลับไป 40 ปี และตื่นขึ้นมาก่อนหน้าเช้ามืดในวันหนึ่งของกลางเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2050 “เกิดอะไรขึ้นนี่” เขาพูดกับตัวเองอย่างตกตะลึง โลกตรงหน้าทำไมถึงได้ดูผิดแผกแตกต่าง แสงอาทิตย์ที่เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า



ดูราวจะฉายแสงจ้าด้วยรังสีแปลก ๆ นกกา พืช สัตว์ จัตุบาท ทุกสิ่งเปลี่ยนไปสิ้น โลกเปลี่ยนราวกับว่ามันไม่ใช่โลกใบเดียวกัน แน่นอน...ถ้าเขารู้นะว่าเขาหลับไป 40 ปี ชายคนนี้(ไม่ค่อยหนุ่มแล้วมั้ง) กดรีโมทโทรทัศน์ ก่อนจะค่อย ๆ ยกมือขึ้นทึ้งผมเบา ๆ เขาอ้าปากน้อย ๆ ด้วยอาการของคนเผลอสติ จ้องจอโทรทัศน์ด้วยสายตางุนงง


โลกยามนี้ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาว ๆ หายไปเกลี้ยง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือไทย พื้นที่หดเหลือ 1 กะเปาะเล็ก ๆ ในแผนที่ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่เพาะปลูกเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยน ผู้คนพลเมืองเผชิญภาวะน้ำท่วม ข้าวปลาอาหารน้ำจืดขาดแคลน การเพาะปลูกกลายเป็นเรื่องยากถึงเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย 


โรคภัยไข้เจ็บอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติผันแปร ฟังแล้วอายุคนบนโลกจะสั้นลง ชายผู้หลับไป 40 ปีสะดุ้งเฮือกรีบปิดโทรทัศน์ เขาตัดสินใจเดินออกมานอกบ้านและพบว่าบนถนนช่างเวิ้งว้างว่างเปล่าและแทบจะ เรียกได้ว่าไม่มีรถยนต์วิ่งอยู่เลย “นี่มันอะไรกัน โลกนี้เกิดอะไรขึ้น” เขาถามด้วยเสียงและใจที่สั่นระรัว คนที่ให้คำตอบแก่เขาคือหญิงสาวคนแรกที่เดินผ่านมา เธอย้อนถามเขาว่า “คุณไปไหนมา โลกของเราก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”...แน่นอน...มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ คุณคิด


สิ่งท้าทายอุบัติใหม่

ย้อนโลกกลับไปในปี 1997 ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต จนถึงโคเปนเฮเกนในปี 2009 แม้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่าโลกจะร้อนขึ้นแน่ แต่โลกในขณะนั้นก็เป็นไปในแบบที่เห็นและเป็นอยู่ เรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์พูดกันมาหลายปี แต่ไม่เห็นใครตกลงกับใคร
ใน ท่ามกลางการถกเถียง คือความร่วมมือกันของหน่วยงานระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยระดับภูมิภาคเอเปค Research on the Futures of Low Carbon Society: Climate Change and Adaptation Strategy for Economies in APEC Beyond 2050 ซึ่งประเทศต่างๆ มีรัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน แคนาดา และไทย เป็นต้น ในปี 2010 พวกเขาประกาศสิ่งที่เรียกว่า 5 ภาพฉาย (Scenerio) ของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นใน 40 ปีข้างหน้า
1.ผล กระทบโดยตรง (ภัยแล้ง น้ำท่วม) 2.ผลกระทบต่อคนเมือง 3.ผลกระทบต่อคนชนบทที่ใช้ชีวิตใกล้ฐานทรัพยากร 4.ผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 5.ผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการ ภาพฉายทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแนวคิดการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Chimate Change) ไคลเมทโมเดลที่แม่นยำไม่เพียงแค่การเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือการลดคาร์บอน ไดออกไซด์เท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ด้วย 


โลว์คาร์บอน โซไซตี้

ทำไมถึงต้อง 40 ปี ทำไมถึงต้องบียอนด์ทู 2050 นั่นก็เพราะคณะทำงานสากลคณะนี้ ต้องการทำงานกับโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้นจริงภายในช่วงชีวิตของคนบนโลกที่มี ชีวิตอยู่ในขณะนั้น ที่อย่างน้อยจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีก 40 ปี การทำงานและการกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่บนแนวคิดเชิงบวกที่ว่า มนุษย์ปรับตัวได้เพื่อความอยู่รอด

จากการคาดการณ์โมเดล ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุกสิ่ง ยกตัวอย่างของสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น(2010) คือสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสังคมออนไลน์ ไม่ต้องเจอกันแต่พูดกันได้ ไม่ต้องเจอกันแต่ประชุมทำงานกันได้ สังคมออนไลน์พัฒนาจนสมบูรณ์ในวันหนึ่งเมื่อมนุษย์เดินทางโดยไม่เดินทาง

ความหนักหน่วงของภาวะสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกอย่างแพงด้วยภาษี ทุกอย่างถูกทำให้แพงโดยนโยบาย หลายอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ต้องเป็นไป ในปี 2050 คนไม่ขับรถ คนไม่เดินเรือ คนไม่โดยสารเครื่องบิน น้ำมันที่ใกล้หมดโลก ทำให้พลังงานมีราคาแพงจนแทบจะไม่มีใครสามารถเดินทางได้อีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอาหาร การขนส่งต้องปฏิรูปหมดในปีแห่งอนาคต เราได้เห็นภาพของสังคมที่หลากหลาย สิ่งที่ผูกกันไว้ระหว่างประเทศ เช่น การบิน การเดินทาง ยังสั่นสะเทือนต่อไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว ในเมื่อมีคนเดินทางโดยไม่เดินทาง ก็มีคนที่ท่องเที่ยวโดยไม่ท่องเที่ยว ธุรกิจเวอร์ช่วล ทัวริซึม(Virtual Tourism) เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลก


อิสระของความจริงที่ย่อมเป็นไป

เวอร์ช่วล ทัวร์ริซึม หรือการท่องเที่ยวเสมือนจริง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่รับได้ อธิบายได้ น้ำมันแพงมาก จนไม่มีใครอยากเดินทางจริง ๆ กันอีก ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วมแผ่นดินถล่มทำให้เบี้ยประกันสูงลิบ บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยการเดินทาง ต่อไปการท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ก็ไม่ต้องเดินทางมาจริง ๆ แต่เดินทางไปที่ธีมปาร์ค สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นประเทศไทยจำลอง

ผู้คนในอนาคตยินดีไปเที่ยวโดยตีตั๋วเข้าไปในสถานที่เสมือนจริงเหล่านี้ เพราะเข้าไปก็ได้รับสุนทรียรส แสงสีเสียง สัมผัส กลิ่นอาย ผู้คน อาหาร อากาศ ราคาค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้รับประสบการณ์เหมือนมาเที่ยว เมืองไทยจริง ๆ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจภาคบริการที่จะได้เห็นแน่ ๆ

ใครอยากไปลาสเวกัส ในที่สุดก็มีบ่อนคาสิโนเสมือนจริงในหลายประเทศ ยังมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือกฏกติกาภาษี กฎหมาย เหลี่ยมมุมการเจรจา การต่อรองระหว่างประเทศและอีกมากเท่าที่จะจินตนาการไปถึงได้ ขโมยโลกอนาคตไม่ขโมยเงินหรือพันธบัตร แต่ขโมยพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก ไม่ก็ขโมยโนฮาวเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ภาษีน้ำมันบีบให้เครื่องบินต้องใช้น้ำมันที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล ทั้งหมดนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา(2010-2050) สังคมคาร์บอนต่ำเป็นจริงได้โดยมีเฟียร์แฟคเตอร์ของผู้บริโภคเอง เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่นโยบายของนานาชาติเป็นกรอบกำหนด 40 ปี โลกถูกบีบกรอบไปในแนวทางและยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด สิ่งที่ช่วยคือเทคโนโลยี แต่มันก็เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของสังคมคาร์บอนต่ำเท่านั้น ชีวิตคนเปลี่ยนไปอย่างไร...เราอยู่รอด และมีความสุขภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติ...นี่ต่างหากที่เป็นคำตอบสุดท้ายของ โลกคาร์บอนต่ำ และคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติโลกอนาคต

“ฮือม์...ผมไม่อยากเชื่อเลย” ชายผู้ผ่านกาลเวลามาด้วยการหลับ ฟังแล้วทำเสียงรำพึงรำพันหญิงสาวยิ้มกว้าง เธอตบไหล่ให้กำลังใจเพื่อนผู้แปลกหน้าก่อนจะกล่าวว่า “คุณกลับบ้านเถอะ อย่าคิดอะไรมาก โลกรอดแล้ว สิ่งที่คุณต้องการตอนนี้ คือการได้นอนหลับพักผ่อนซักหน่อย”


ที่มา:http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=grizzlybear&month=06-2010&date=26&group=65&gblog=55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น