วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ้านคาร์บอนต่ำ

แนวทางการก้าวเดินสู่สังคมคาร์บอนต่ำคือกระแสของโลก ณ ตอนนี้ โครงการประกวดแนวความคิดออกแบบบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน : อบก.) เชิญชวนให้ผู้สนใจส่งแบบบ้านเข้ามาประกวดตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และเลื่อนการรับผลงานออกไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน  สำหรับโครงการนี้มีเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างบ้านและอาคารตึกแถวที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบบดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่เป็นต้นแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งรณรงค์ให้ผู้ประกอบอาชีพทางสถาปัตยกรรม ผู้ประกอบธุรกิจด้านที่อยู่อาศัย และผู้ที่ต้องการซื้อหรือสร้างบ้านและอาคารตึกแถวเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการลดโลกร้อน ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงและให้ความสนใจต่อการออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก
     
บ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ หมายถึง บ้านและอาคารตึกแถวที่มีการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ การใช้งาน การซ่อมแซมและทุบทำลาย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยตลอดวัฏจักรชีวิตของบ้านหรืออาคารนั้น ๆ เมื่อเทียบกับบ้านและอาคารตึกแถวแบบปกติ
     
ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในกระบวนการออกแบบ (Design) เป็นอย่างมาก โดยบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำจะต้องมีการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านและอาคารได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการของเสีย การใช้วัสดุและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี 
    
ดังนั้นลักษณะสำคัญของบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ควรออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น (Tropical Design) สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ไม่สะสมความชื้น และระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้การออกแบบบ้านและอาคารตึกแถวคาร์บอนต่ำ ยังต้องคำนึงถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการดูดซับคาร์บอน ภายในบ้านและอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    
ใครที่คิดจะสร้างบ้านแล้วยังไม่มีแบบบ้านอดใจรออีกนิด เพื่อรอแบบบ้านคาร์บอนต่ำ เพราะมีทั้งบ้านเดี่ยว และแบบอาคารตึกให้เลือก หรือติดตามความคืบหน้าที่ เว็บไซต์ http://www.tgo.or.th


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=547&contentId=164059

สังคมคาร์บอนต่ำ4

ความพยายามที่ท้าทายที่สุดของประชาคมโลกในการหยุดยั้งความเสียหายของโลกใบนี้ซึ่งบอบช้ำจากน้ำมือมนุษย์มานานนับศตวรรษ ทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง การผลิตก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล รวมทั้งการทำลายระบบนิเวศน์ในพื้นต่างๆเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีข้อผูกพันให้ประเทศต่างๆต้องลดก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต (เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ของระดับก๊าซในปี 1990) และเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้นวาทกรรมเรื่อง “สังคมคาร์บอนต่ำ” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาในวงกว้างในฐานะโมเดลของสังคมในอนาคตและทางรอดของมนุษยชาติ
สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนน้อย และแทนที่การใช้พลังงานรูปแบบเดิมด้วยพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆที่พัฒนาจากเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ในหลายประเทศเริ่มมีการเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการวางระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีสัดส่วนครอบคลุมถึงร้อยละ 46.7 ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งไปได้จำนวนมหาศาล และจากความเอาจริงเอาจังของภาคส่วนต่างๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 2.55 ล้านตัน ในช่วงปี 2005-2006
สำหรับประเทศไทย การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำยังคงเป็นเพียงกิจกรรมและโครงการขนาดเล็ก หรืออาจกล่าวได้ว่าเรายังอยู่แค่ในช่วงศึกษาค้นคว้าเท่านั้น โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความพร้อมให้สังคมในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีขอบเขตการทำงานแบ่งเป็น 3 ด้านคือ (1) การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสภาพเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างยุทธศาสตร์ในการปรับตัว เช่น การศึกษาวิจัย (2) การสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลด้านอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (3) การประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อนำฐานข้อมูลไปประยุกต์กับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น การคำนวณ carbon footprintอย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคสำคัญ 4 ประการที่ทำให้สังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือ

หากประเทศไทยต้องการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ปัญหาอุปสรรคทั้ง 4 ประการแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐเพื่อให้เป็นกลไกในการผลักดันภาคส่วนอื่นๆของสังคม
  1. การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพคือ การใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่ยังคงได้ประโยชน์เท่าเดิม ซึ่งนอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว สังคมไทยยังต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงในครัวเรือน
  2. การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตไฟฟ้าไปได้อย่างมาก ในปัจจุบันมีการใช้พลังงานหมุนเวียนบางประเภทในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตประเภทพลังงานหมุนเวียนให้กว้างขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานในรูปแบบดังกล่าวในอุตสาหกรรมและครัวเรือนอย่างเป็นระบบ
  3. การลดการสูญเสียป่าและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน ในประเทศไทยเองนับว่ามีพัฒนาการเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืน มีการส่งเสริมและให้ความรู้แนวคิดดังกล่าวจนปัจจุบันสามารถขยายผลไปถึงในระดับท้องถิ่น แต่ที่ยังคงเป็นปัญหาคือเรื่องการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าซึ่งแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาแต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ของนายทุนอยู่เป็นจำนวนมาก
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า ไปจนถึงการสร้างนิสัยการบริโภคอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งในสังคมไทยมีการรณรงค์ในประเด็นเหล่านี้จากทั้งทางภาครัฐ และเอกชนแต่ก็ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติและยังไม่สามารถวัดผลได้เท่าที่ควร
Mr. Martin Krause หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ศูนย์โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNDP Asia-Pacific Regional Centre) ได้เสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ว่า รัฐบาลควรเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแต่ควรปล่อยให้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกและควรหันมาอุดหนุนราคาไบโอดีเซลแทนจะดีกว่า แม้ไบโอดีเซลจะใช้พลังงานชีวมวลซึ่งจะปล่อยคาร์บอนเช่นกันแต่ก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเกษตรกรก็เผาเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในหลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ สังคมไทยเองมีจุดแข็งในด้านภูมิปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว หากเพียงแต่เราจะพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำร่วมกับลงมือลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นแล้ว ลูกหลานของเราคงจะอยู่ในสังคมที่ไม่มั่นคงอย่างมาก และไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกต่อไป

สังคมคาร์บอนต่ำ3

คนทั่วไปอาจยังไม่รู้จักมันดี แต่สำหรับคนในแวดวงสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรียกว่า“โลว์คาร์บอน โซไซตี้”หรือสังคมคาร์บอนต่ำ คือชะตาโลกที่จะมาถึงภายในระยะเวลาไม่เกิน 40 ปีข้างหน้า และมนุษย์ทุกคนบนโลกจะได้รับเกียรติ ให้เป็นผู้เล่าประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของพวกเขาเอง



เหตุเกิดที่ 2050

จะเป็นไรไปเล่า ถ้าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริง แน่นอน...มันเป็นเรื่องจริงของมนุษย์โลกคนหนึ่งที่หลับไป 40 ปี และตื่นขึ้นมาก่อนหน้าเช้ามืดในวันหนึ่งของกลางเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2050 “เกิดอะไรขึ้นนี่” เขาพูดกับตัวเองอย่างตกตะลึง โลกตรงหน้าทำไมถึงได้ดูผิดแผกแตกต่าง แสงอาทิตย์ที่เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า



ดูราวจะฉายแสงจ้าด้วยรังสีแปลก ๆ นกกา พืช สัตว์ จัตุบาท ทุกสิ่งเปลี่ยนไปสิ้น โลกเปลี่ยนราวกับว่ามันไม่ใช่โลกใบเดียวกัน แน่นอน...ถ้าเขารู้นะว่าเขาหลับไป 40 ปี ชายคนนี้(ไม่ค่อยหนุ่มแล้วมั้ง) กดรีโมทโทรทัศน์ ก่อนจะค่อย ๆ ยกมือขึ้นทึ้งผมเบา ๆ เขาอ้าปากน้อย ๆ ด้วยอาการของคนเผลอสติ จ้องจอโทรทัศน์ด้วยสายตางุนงง


โลกยามนี้ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาว ๆ หายไปเกลี้ยง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือไทย พื้นที่หดเหลือ 1 กะเปาะเล็ก ๆ ในแผนที่ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่เพาะปลูกเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยน ผู้คนพลเมืองเผชิญภาวะน้ำท่วม ข้าวปลาอาหารน้ำจืดขาดแคลน การเพาะปลูกกลายเป็นเรื่องยากถึงเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย 


โรคภัยไข้เจ็บอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติผันแปร ฟังแล้วอายุคนบนโลกจะสั้นลง ชายผู้หลับไป 40 ปีสะดุ้งเฮือกรีบปิดโทรทัศน์ เขาตัดสินใจเดินออกมานอกบ้านและพบว่าบนถนนช่างเวิ้งว้างว่างเปล่าและแทบจะ เรียกได้ว่าไม่มีรถยนต์วิ่งอยู่เลย “นี่มันอะไรกัน โลกนี้เกิดอะไรขึ้น” เขาถามด้วยเสียงและใจที่สั่นระรัว คนที่ให้คำตอบแก่เขาคือหญิงสาวคนแรกที่เดินผ่านมา เธอย้อนถามเขาว่า “คุณไปไหนมา โลกของเราก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”...แน่นอน...มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ คุณคิด


สิ่งท้าทายอุบัติใหม่

ย้อนโลกกลับไปในปี 1997 ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต จนถึงโคเปนเฮเกนในปี 2009 แม้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่าโลกจะร้อนขึ้นแน่ แต่โลกในขณะนั้นก็เป็นไปในแบบที่เห็นและเป็นอยู่ เรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์พูดกันมาหลายปี แต่ไม่เห็นใครตกลงกับใคร
ใน ท่ามกลางการถกเถียง คือความร่วมมือกันของหน่วยงานระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยระดับภูมิภาคเอเปค Research on the Futures of Low Carbon Society: Climate Change and Adaptation Strategy for Economies in APEC Beyond 2050 ซึ่งประเทศต่างๆ มีรัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน แคนาดา และไทย เป็นต้น ในปี 2010 พวกเขาประกาศสิ่งที่เรียกว่า 5 ภาพฉาย (Scenerio) ของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นใน 40 ปีข้างหน้า
1.ผล กระทบโดยตรง (ภัยแล้ง น้ำท่วม) 2.ผลกระทบต่อคนเมือง 3.ผลกระทบต่อคนชนบทที่ใช้ชีวิตใกล้ฐานทรัพยากร 4.ผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 5.ผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการ ภาพฉายทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแนวคิดการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Chimate Change) ไคลเมทโมเดลที่แม่นยำไม่เพียงแค่การเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือการลดคาร์บอน ไดออกไซด์เท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ด้วย 


โลว์คาร์บอน โซไซตี้

ทำไมถึงต้อง 40 ปี ทำไมถึงต้องบียอนด์ทู 2050 นั่นก็เพราะคณะทำงานสากลคณะนี้ ต้องการทำงานกับโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้นจริงภายในช่วงชีวิตของคนบนโลกที่มี ชีวิตอยู่ในขณะนั้น ที่อย่างน้อยจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีก 40 ปี การทำงานและการกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่บนแนวคิดเชิงบวกที่ว่า มนุษย์ปรับตัวได้เพื่อความอยู่รอด

จากการคาดการณ์โมเดล ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุกสิ่ง ยกตัวอย่างของสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น(2010) คือสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสังคมออนไลน์ ไม่ต้องเจอกันแต่พูดกันได้ ไม่ต้องเจอกันแต่ประชุมทำงานกันได้ สังคมออนไลน์พัฒนาจนสมบูรณ์ในวันหนึ่งเมื่อมนุษย์เดินทางโดยไม่เดินทาง

ความหนักหน่วงของภาวะสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกอย่างแพงด้วยภาษี ทุกอย่างถูกทำให้แพงโดยนโยบาย หลายอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ต้องเป็นไป ในปี 2050 คนไม่ขับรถ คนไม่เดินเรือ คนไม่โดยสารเครื่องบิน น้ำมันที่ใกล้หมดโลก ทำให้พลังงานมีราคาแพงจนแทบจะไม่มีใครสามารถเดินทางได้อีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอาหาร การขนส่งต้องปฏิรูปหมดในปีแห่งอนาคต เราได้เห็นภาพของสังคมที่หลากหลาย สิ่งที่ผูกกันไว้ระหว่างประเทศ เช่น การบิน การเดินทาง ยังสั่นสะเทือนต่อไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว ในเมื่อมีคนเดินทางโดยไม่เดินทาง ก็มีคนที่ท่องเที่ยวโดยไม่ท่องเที่ยว ธุรกิจเวอร์ช่วล ทัวริซึม(Virtual Tourism) เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลก


อิสระของความจริงที่ย่อมเป็นไป

เวอร์ช่วล ทัวร์ริซึม หรือการท่องเที่ยวเสมือนจริง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่รับได้ อธิบายได้ น้ำมันแพงมาก จนไม่มีใครอยากเดินทางจริง ๆ กันอีก ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วมแผ่นดินถล่มทำให้เบี้ยประกันสูงลิบ บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยการเดินทาง ต่อไปการท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ก็ไม่ต้องเดินทางมาจริง ๆ แต่เดินทางไปที่ธีมปาร์ค สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นประเทศไทยจำลอง

ผู้คนในอนาคตยินดีไปเที่ยวโดยตีตั๋วเข้าไปในสถานที่เสมือนจริงเหล่านี้ เพราะเข้าไปก็ได้รับสุนทรียรส แสงสีเสียง สัมผัส กลิ่นอาย ผู้คน อาหาร อากาศ ราคาค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้รับประสบการณ์เหมือนมาเที่ยว เมืองไทยจริง ๆ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจภาคบริการที่จะได้เห็นแน่ ๆ

ใครอยากไปลาสเวกัส ในที่สุดก็มีบ่อนคาสิโนเสมือนจริงในหลายประเทศ ยังมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือกฏกติกาภาษี กฎหมาย เหลี่ยมมุมการเจรจา การต่อรองระหว่างประเทศและอีกมากเท่าที่จะจินตนาการไปถึงได้ ขโมยโลกอนาคตไม่ขโมยเงินหรือพันธบัตร แต่ขโมยพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก ไม่ก็ขโมยโนฮาวเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ภาษีน้ำมันบีบให้เครื่องบินต้องใช้น้ำมันที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล ทั้งหมดนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา(2010-2050) สังคมคาร์บอนต่ำเป็นจริงได้โดยมีเฟียร์แฟคเตอร์ของผู้บริโภคเอง เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่นโยบายของนานาชาติเป็นกรอบกำหนด 40 ปี โลกถูกบีบกรอบไปในแนวทางและยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด สิ่งที่ช่วยคือเทคโนโลยี แต่มันก็เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของสังคมคาร์บอนต่ำเท่านั้น ชีวิตคนเปลี่ยนไปอย่างไร...เราอยู่รอด และมีความสุขภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติ...นี่ต่างหากที่เป็นคำตอบสุดท้ายของ โลกคาร์บอนต่ำ และคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติโลกอนาคต

“ฮือม์...ผมไม่อยากเชื่อเลย” ชายผู้ผ่านกาลเวลามาด้วยการหลับ ฟังแล้วทำเสียงรำพึงรำพันหญิงสาวยิ้มกว้าง เธอตบไหล่ให้กำลังใจเพื่อนผู้แปลกหน้าก่อนจะกล่าวว่า “คุณกลับบ้านเถอะ อย่าคิดอะไรมาก โลกรอดแล้ว สิ่งที่คุณต้องการตอนนี้ คือการได้นอนหลับพักผ่อนซักหน่อย”


ที่มา:http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=grizzlybear&month=06-2010&date=26&group=65&gblog=55

สังคมคาร์บอนต่ำ2

สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society มีความหมายตรงตัว ไม่ได้ซับซ้อนอะไร กล่าวคือ เป็นสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ (เชื้อเพลิงส่วนใหญ่อยู่ในรูปของคาร์บอน) โดยอาศัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การใช้พลังงานแบบเดิมๆ แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี

แนวคิดนี้ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มและกำลังเป็นผู้นำในการปฏิบัติ รวมทั้งชักชวนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศลูกหม้อในเอเชียให้เจริญรอยตามไปด้วย

เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเอเชีย สิ่งที่ ญี่ปุ่นทำมิใช่มุ่งหวังแค่ผลด้านสิ่งแวดล้อม เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจการค้าของตนด้วย ญี่ปุ่นหวังว่าสังคมคาร์บอนต่ำจะต้องมีผลเปลี่ยนแปลงสังคมและวิถีชีวิตของชุมชนใหญ่น้อยของโลกในอนาคตข้างหน้า โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางพลังงานใหม่ๆ ของญี่ปุ่นไปอีกหลายสิบปี ก่อนจะสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมของตนเองขึ้นมาได้ หรืออาจจะทำไม่ได้เลยเพราะมัวแต่ทะเลาะกันในสภาฯ

ญี่ปุ่นวางเป้าหมายการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ในเบื้องต้นว่า จากนี้ถึงปี 2020 จะเป็นช่วงทำความเข้าใจกับแนว คิดการบริหารจัดการและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะมีการลดก๊าซได้เพียง 25% จากระดับในปี 1990

เป้าหมายระยะกลางจากปี 2020 ถึงปี 2030 เพิ่มการลดก๊าซเป็น 40% และก้าวกระโดดเป็น 80% ภายปี 2050 สำหรับเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งจะเป็นจุดที่ประชาชนรุ่นใหม่มีความรู้ฝังอยู่ในจิตสำนึกโดยสมบูรณ์ และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็น ชาติหนึ่งที่ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ และมีฐานการพัฒนาที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ อยู่หลายขุม จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป้าหมายที่วางไว้ คงเป็นไปได้ตามเป้า

หลายเรื่องที่ญี่ปุ่นพัฒนาและเป็นฐานที่ดีสู่การพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ล้ำหน้ากว่าใคร ยกตัวอย่างเช่น

- อุตสาหกรรมผลิตเหล็กและซีเมนต์ซึ่งใช้พลังงานสูงมาก แต่ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานโดยสามารถผลิตเหล็กได้ด้วยการใช้พลังงานน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 1-1.25 เท่า

- ญี่ปุ่นมีระบบขนส่งมวลชนประสิทธิภาพสูง แพร่ขยายครอบคลุมเป็นสัดส่วนถึง 46.7% ขณะที่ประเทศชั้นนำอื่นๆ มีอัตราครอบคลุมน้อยกว่า ได้แก่ เยอรมนี 20.7% ฝรั่งเศส 16.1% สหรัฐฯ 22.4% และอังกฤษ 13.1%

- มีอัตราการเติบโตของยอดขายรถประหยัดพลังงาน เช่น รถยนต์ไฮบริดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007

- ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเซลล์ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (solar cells) รายใหญ่ที่สุดในโลก

- ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นประหยัดพลังงานได้สูงที่สุดในโลก

- ญี่ปุ่นใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนถึงหนึ่งในสาม

- และที่ภาคภูมิใจสุดๆ คือการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการลดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 2.55 ล้านตัน ในช่วงปี 2005-2006

กลไกที่ผลักดันให้นโยบายการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดได้จริง ญี่ปุ่นทำทั้งภาคบังคับและสมัครใจ

ในการบังคับใช้วิธีกำหนดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อรัฐ และเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สู่สาธารณชน

ส่วนมาตรการจูงใจและเชิญชวนใช้วิธีออกมาตรฐานประหยัดพลังงาน เชิญชวนให้เกิดการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หากทำไม่ได้รัฐบาลจะแนะนำช่วยเหลือ เท่าที่ผ่านมามาตรการนี้ทำให้เกิดการแข่งขันในทางคุณภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 42% ตู้เย็น 55% จอทีวีและคอมพิวเตอร์ 73.6%

ในด้านการบริหารปกครอง ก็มีมาตรการที่จะให้ท้องถิ่นต่างๆ ลดก๊าซตาม สภาพภูมิประเทศและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน ตัวอย่างเช่น ในระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สิ่งแวดล้อมประกาศตัวต่อประชาคมโลกว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในการลดโลกร้อน ไม่ว่า มติจาก Post Kyoto Protocol จะออกมาเป็นอย่างไร สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง จากระดับผู้บริหารประเทศสู่ประชาชนทั่วไป จนเท่าที่ผ่านมามีกิจกรรมออกมาเป็นรายวัน มีอาสาสมัครเป็นผู้ให้ความรู้และแนะนำการปฏิบัติที่ดี รวมทั้งมีหลายกิจกรรมที่เป็นไปในทางพอเพียงเช่นเดียวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำกันในประเทศไทย แต่ญี่ปุ่นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Eco-life”

และที่น่าจับตามองคือ มาตรการ “Local production for local consumption” หรือโครงการผลิตในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่น โดยรัฐให้การรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งพาตนเองได้ แตกต่างจากบ้านเราที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นการรับรองเพื่อส่งไปขายในเมืองใหญ่และเมืองนอก แต่มีแนวโน้มกลายมาเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของนักลงทุนที่ใช้แรงงานของท้องถิ่น ประโยชน์จึงตกอยู่ที่นักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านท้องถิ่นก็ยังคงยากจนอยู่เหมือนเดิม

ถ้าเป็นในสังคมเอง แนวทางหลักจะเน้นไปที่เรื่องนวัตกรรมการ Recycle ของเสียต่างๆ การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน การจัดโซนนิ่งการใช้ที่ดินและการสร้าง green buildings ภายใต้การรณรงค์ อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจแบบ small office และ home office อุปกรณ์ไฟฟ้าและยานพาหนะมีจอติดตั้งเพื่อแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สร้างอิมเมจของครอบครัวทันสมัยที่มีการประหยัดพลังงานทุกรูปแบบและมีสวนผักอยู่บนหลังคา โดยประเมินว่าครอบครัวหนึ่งมีศักยภาพลดคาร์บอนได้ถึง 50%

หากมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา

เมืองไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ เมืองไทยมิใช่ด้อยน้อยหน้าญี่ปุ่นจน เกินไป เรามีพื้นฐานของสังคมที่พอเพียงอยู่แล้ว มีภูมิปัญญา มีทรัพยากรธรรมชาติ เหลือเฟือ และมีศูนย์รวมของการร่วมแรงร่วมใจคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณริเริ่มโครงการต่างๆ ขึ้นมามากมายที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อปวงชนอย่างแท้จริง

หากเราพยายามชูจุดแข็งเหล่านี้ควบคู่ไปกับการค้นคว้านวัตกรรมที่เหมาะสม เราก็อาจก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างภาคภูมิใจไม่น้อย ขอแต่เพียงมีเจตนา ที่มุ่งมั่น อย่ากล้าๆ กลัวๆ อิงกับการพัฒนา เศรษฐกิจแบบ GDP มากจนเกินไป เราก็คงจะเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของไทยในหลายๆ ด้านยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะการที่เรายังไม่มีความจริงจังในการผันนโยบายออกมาเป็นการปฏิบัติจริง เรายังคงไม่กล้าใช้กฎหมายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และการใช้ที่ดินอย่างจริงจัง

ซึ่งต้นตอของปัญหาก็หนีไม่พ้นอุปสรรคแบบเดิมๆ คือ การแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง การขาดธรรมาภิบาลของเจ้าหน้าที่ผู้บริหารผู้ปกครอง และจริยธรรมของนักลงทุน ซึ่งยังมีจำนวน ไม่น้อยที่ออกมาทำ CSR ด้วยอารมณ์เพื่อสร้างภาพมากกว่าคิดถึงสิ่งแวดล้อมส่วนรวมอย่างแท้จริง   

สังคมคาร์บอนต่ำ1

เมื่อเทียบกับก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้อื่นๆ แล้ว กิจกรรมของมนุษย์นับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ปลดปล่อย “คาร์บอน” มากกว่าก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ และนำไปสู่แนวคิดในการสร้างสังคม “คาร์บอนต่ำ” ที่มีโจทย์อันท้าทายว่าเศรษฐกิจต้องเดินหน้าไปด้วย
       
       มร.มาร์ติน เคราส์ (Mr.Martin Krause) หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ศูนย์โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNDP Asia-Pacific Regional Cantre) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงอุปสรรคของการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่ามี 4 เรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จ คือ 1.ประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า 2.การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน 3.การลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน และ 4.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปิดไฟเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต้องเผาพลาญเชื้อเพลิง เป็นต้น
       
       ส่วนนโยบายเพื่อสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำของยูเอ็นดีพีนั้น มร.เคราส์ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่จะนำไปสู่การลดคาร์บอนในเมืองไทยที่ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ จ.แม่ฮ่องสอน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก และโครงการสำรวจประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร โดยยูเอ็นดีพีให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจอาคารที่เข้าร่วมในโครงการ ซึ่งมีทั้งโรงแรียนและโรงพยาบาลว่าสามารถลดการใช้พลังงานในส่วนใดได้บ้าง และเสนอเป็นแผนการจัดการเพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
       
       สำหรับข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายแก่รัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น มร.เคราส์กล่าวว่ารัฐบาลควรจะเลิกหนุนราคาน้ำมันดีเซล และปล่อยให้ราคาใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก และหันมาหนุนราคาไบโอดีเซลแทนจะดีกว่า และให้ความเห็นด้วยว่าเราสามารถใช้พลังงานทดแทนได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่า ต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีหลากหลายเทคโนโลยี เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานน้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ได้ หรือจะยอมรับความเสี่ยงจากพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความเสี่ยงสูง
      
       “หลายคนอาจบอกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลก็ปลดปล่อยคาร์บอนเช่นกัน ใช่ แต่การปลดปล่อยนั้นไม่ได้เพิ่มปริมาณการปลดปล่อย เพราะยังไงเสียเกษตรกรก็เผาเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นอยู่แล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนมาเป็นพลังงานเสียเลย ส่วนพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ปล่อยคาร์บอนก็จริงแต่มีความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและความเสี่ยงจากการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งยูเอ็นดีพีไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าต้องการจะเสี่ยงหรือไม่” มร.เคราส์ให้ความเห็น
       
       พร้อมกันนี้ในการเปิดงานสัมมนา “อนาคตของสังคมคาร์บอนต่ำ: ใต้วิสัยทัศน์เอเชียแปซิฟิกภายในปี 2050” (The Future of Low-Carbon Society: An Asia-Pacific Vision Beyond 2050) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.53 ณ โรงแรมคอนราด ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีกิจกรรมและการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดการปลดปล่อยและปรับตัวรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แบ่งได้เป็น 3 ขอบเขต
       
       ขอบเขตแรกเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยุทธศาสตร์ในการปรับตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนาหลายโครงการ เช่น งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาพันธุ์พืชเพื่อทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พืชทนแล้ง-ทนน้ำท่วม หรือการพัฒนาโรงเรือนที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เป็นต้น
       
       ขอบเขตที่ 2 เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ ซึ่งงานในขอบเขตนี้ยังรวมถึงการพัฒนาแบบจำลองที่อาศัยข้อมูลภาพถ่ายระยะไกลหรือรีโมตเซนซิง (Remote Sensing) อย่างข้อมูลอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งส่งต่อไปยัง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อสร้างแบบจำลองต่อไป
       
       ขอบเขตสุดท้ายเป็นเรื่องการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. มีบทบาทนำในเรื่องนี้ โดยฐานข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิตนั้นนำไปสู่การประยุกต์ที่หลากหลาย เช่น การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon footprint) ของผลิตภัณฑ์หรือการทำงานขององค์กรต่างๆ ได้ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องให้นักวิทยาศาสตร์ของเรานั้นแสดงความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เราเชื่อมั่นได้ว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นจะมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


ที่มา: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000121737