วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint Labeling)

ฉลากคาร์บอนเป็นฉลากที่ทำขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs)ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น (package) โดยใช้แนวคิดของการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment, LCA)เพื่อประเมินปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นโดยแสดงผลในรูปของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent)และแสดงผลผ่านทางฉลากที่ติดให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ บนบรรจุภัณฑ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ หรือ website ของผลิตภัณฑ์

ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environmental Institute) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse gas Organization) ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการฉลากคาร์บอนขึ้นในเดือน สิงหาคม 2551 ซึ่งในประเทศไทยจะแบ่งฉลากคาร์บอนออกเป็น 2 ประเภท คือ
ฉลากแบบที่ 1 พิจารณาการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Cradle to Grave) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เวลาค่อนข้างมากเนื่องจากมีกระบวนการประเมินซับซ้อน
ฉลากแบบที่ 2 พิจารณาการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาเฉพาะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (Production stages) เท่านั้น (Gate to gate) ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานน้อยกว่าแบบแรก โดยในช่วงแรกของโครงการจะมุ่งเน้นการออกฉลากคาร์บอนแบบที่ 2 เพื่อให้การดำเนินการออกฉลากกระทำได้รวดเร็ว เพื่อรองรับกระแสของผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบทั้งวงจรชีวิตเพื่อการออกฉลากคาร์บอนแบบที่ 1จะถูกดำเนินการในลำดับถัดไป ฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าหรือบริการนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ค่อนข้างสูง ปานกลาง ค่อนข้างต่ำ หรือ ต่ำ โดยแสดงผลเป็น 5 ระดับ ด้วยหมายเลข 1 - 5 สินค้าที่ได้ฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 คือ สินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยที่สุดและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ หรืออีกนัยหนึ่งคือสินค้าหรือบริการนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งระบบฉลากคาร์บอนนี้มีความคล้ายคลึงกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของกระทรวงพลังงาน
ฉลากคาร์บอนในประเทศอื่นๆ
ปัจจุบัน มีการใช้ Carbon Label ในบางประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากนี้ ได้แก่อาหาร เครื่องดื่มและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (แชมพู สบู่ ฯลฯ)สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดการติดฉลากแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนตัวผลิตภัณฑ์ มีหน่วยงานหลักที่ร่วมรับผิดชอบ คือ Department of the Environment, Food and Rural Affairs (DEFRA) และ The Carbon Trust ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยในปี ค.ศ. 2007 ในภาคธุรกิจ บริษัท TESCO ซึ่งเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศได้เริ่มโครงการติดฉลากแสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ TESCO กว่า 20 สินค้า จาก 4 ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย น้ำส้ม มันฝรั่งอบกรอบ สารซักฟอกและหลอดไฟฟ้า 



ประโยชน์ของการมีฉลากคาร์บอน
ผู้บริโภค
            ทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
            มีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ผู้ผลิต
            ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล(fossil fuel) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
            แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม(social responsibility) และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท


ระบบมาตรฐานที่ใช้เพื่อจัดทำฉลากคาร์บอน 
ปัจจุบันมีมาตรฐานที่องค์กรสามารถนำมาใช้ เพื่อจัดทำฉลากคาร์บอน(Carbon Footprint Labelling) ได้แก่
ISO 14025 : 2006 Environmental labels and declarations PAS  2050 : 2008 Specification for the assessment of the life cycle greenhouse gas emissions of goods and services
หน่วยงานที่ให้การรับรองฉลากคาร์บอนประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(TGO) เริ่มดำเนินการให้การจัดทำ Carbon Label อย่างเป็นทางการ โดยแสดงผลในรูปของปริมาณ GHG ที่ลดลง ซึ่ง TGO ทำหน้าที่ในการดูแลด้านการประเมินและการจัดทำฉลาก ฯ ต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจและพยายามสนับสนุนการทำ Carbon Label โดยมีหน่วยงานที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและรับรองรองฉลากอาทิ เช่นCarbon Trust เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ใน สหราชอาณาจักร จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องสภาวะโลกร้อน และกระตุ้นเรื่องการลดปริมาณการปลดปล่อย GHG ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ Carbon Trust เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำฉลาก เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ตรา Walkers Carbon Label California เป็นหน่วยงานเอกชน ที่ทำหน้าที่คล้าย Carbon trust และทำงานร่วมกับรัฐแคลิฟอร์เนีย ในการร่างข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการลดการปลดปล่อย GHG The Japan Environmental Management Association for Industry (JEMAI) เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการประเมินและการจัดทำฉลาก คาร์บอนของประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : 1)เครือข่ายเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจไทย (Thai Green Design Network)2)สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environmental Institute) 3)องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse gas Organization)4)http://www.tesco.com5/
5)www.beverage.foodbev.com6)www.carboncounted.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น