วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไปอีกขั้น! เดินหน้าทำ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ระดับองค์กร

หลังฉลาก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” นำร่องประทับลงบนสินค้ากว่า 60 ชิ้นแล้ว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกร่วมกับเอ็มเทคเดินหน้าประเมินการปล่อย คาร์บอนระดับองค์กร นำร่องก่อน 5 องค์กร คาดแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า เชื่อจะได้รับผลตอบรับดีเพราะเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่องค์กร
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) สำหรับประเทศไทย” เมื่อต้นเดือน ต.ค.53 ณ โรงแรมเซนจูรี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามการลงนามดังกล่าวด้วย
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวถึงรายละเอียดโครงการว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งมี 63 ผลิตภัณฑ์จาก 25 บริษัทได้รับการรับรอง ซึ่งผู้ส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดของสภาพยุโรปที่ให้ระบุ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์ และการระบุคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้องมีฐานข้อมูลซึ่งได้จากทางเอ็มเทคที่ศึกษา เรื่องนี้มา 5 ปี
สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรนั้น ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้หารือกับเอ็มเทคมาพร้อมๆ กับการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เห็นผลในระดับผลิตภัณฑ์ก่อนเนื่องจากมีผลกระทบต่อการค้าขาย ส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะให้แก่องค์กรที่มีจิตสำนึก โดยให้สำรวจกิจกรรมภายในองค์กรว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร และอนาคตอาจพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเมื่อทำทั้งระบบจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ตลอดห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน
ในขณะที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้การตอบรับเนื่องจากมีผลต่อการทำธุรกิจ แล้วการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะได้รับความสนใจเช่นเดียวกันหรือไม่นั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทคกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้บริหารให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องของภาพพจน์องค์กร และยังมีผลดีในเชิงการใช้ทรัพยากร โดยเบื้องต้นจะนำร่องศึกษาใน 5 บริษัทและกำลังอยู่ระหว่างคัดเลือก ซึ่งยังไม่มีเกณฑ์ที่ตายตัวเนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น แต่บริษัทนำร่องทั้งหมดต้องเป็นบริษัทที่ไม่มีพันธกิจซ้ำกัน
ทั้งนี้ อำนาจในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นอยู่ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซ เรือนกระจก ส่วนเอ็มเทครับผิดชอบในส่วนของเทคโนโลยี วิชาการและฐานข้อมูลสำหรับประเมินการปล่อยคาร์บอน ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลนี้ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถ โดยได้ทำข้อมูลย้อนกลับไป 4-5 ปี จากนั้นเอ็มเทคจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ที่ปรึกษาที่เข้ารับการอบรม เพื่อออกไปทำหน้าที่ในการคำนวณการปล่อยคาร์บอน
องค์กรที่เข้ารับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้องได้รับการตรวจจาก ที่ปรึกษาซึ่งอาจเป็นทีมขององค์กรเองที่มีความสามารถในการคำนวณการปลดปล่อย คาร์บอนได้ จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจสอบซึ่งต้องขึ้นทะเบียนผ่านทางองค์การบริหาร จัดการก๊าซเรือนกระจกและเป็นผู้ที่มีอำนาจอิสระในการเข้าตรวจสอบองค์กรนั้น ที่จะเข้าตรวจสอบการคำนวณของที่ปรึกษาอีกที ทั้งนี้ คาดว่าในโครงการนำร่อง 5 บริษัทจะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี และการรับรองจะมีอายุ 2 ปี เช่นเดียวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงสถานการณ์จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยว่า ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่หาแนวทางประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ ตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20 ประเทศที่กำลังหาแนวทางดังกล่าว สำหรับแนวทางของไทยคงต้องใช้มาตรฐานสากลแต่อยู่ในบริบทของไทย
สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นหลายอาจถึงคาร์บอนที่มาจากผลิตภัณฑ์ หากแต่จริงๆ แล้ว ดร.พงษ์วิภากล่าวว่าก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยมาจากในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์นั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกำหนดเป้าหมายและ การจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งภายในเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีโปรแกรมให้คำนวณการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ และหากใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 5.3 ตันต่อปี ถือว่าปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น