ปัจจุบันมาตรการการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคสินค้าคาร์บอนต่ำ และสื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นจากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการให้ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ คือ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์ แม้ว่าการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนฉลากเป็นมาตรการโดยสมัครใจ แต่ในบางประเทศเริ่มมีการระบุไว้ในกฎหมายและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น กฎหมาย Grenelle 2 ของประเทศฝรั่งเศสระบุให้ผู้ผลิตต้องแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าจากฉลากเครื่องหมายหรือสื่ออื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2554
อย่างไรก็ตาม การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสื่อสารว่าเป็นสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมและอาจนำไปสู่คำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้พิจารณาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่น เช่น การใช้น้ำและที่ดิน การปล่อยสารพิษสู่ดินและน้ำ สวัสดิภาพสัตว์ การค้าที่เป็นธรรม เพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า การศึกษานี้ได้ประมวลมาตรการการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์และงานวิจัยจากประเทศต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการและผู้จัดทำนโยบายของไทยตระหนักถึงปัญหาและเตรียมพร้อมสำหรับการส่งเสริมการผลิตสินค้าสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น