วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

สินค้าติด "ฉลากคาร์บอนคาร์บอนฟุตพริ้น" นำทางกู้วิกฤตโลกร้อน

ในภาวะโลกร้อนอย่างนี้ จะเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละชนิดจะดูแค่ราคา ปริมาณ และคุณภาพเท่านั้น คงไม่เพียงพอแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เริ่มมีทางเลือกให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยดูที่ "ฉลากคาร์บอน" และ "เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์" บนบรรจุภัณฑ์              วันนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก ผู้บริโภคก็เริ่มตระหนักถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทางหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังสนใจใช้เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นคือการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA) และสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าแต่ละชนิดมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่เริ่มถูกสร้างขึ้นจนถูกทำลายเมื่อกลายเป็นขยะ   
       โรงงานดอยคำนำร่อง "อบแห้งสตรอเบอร์รี่" คาร์บอนต่ำ
       
       ไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ริเริ่มโครงการฉลากคาร์บอนรีดักชัน (Carbon Reduction Label) ซึ่งเป็นฉลากที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าในขั้นตอนการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 10% โดยเทียบกับปีฐาน คือ 2545 ซึ่งสตรอเบอร์รี่อบแห้ง ตรา ดอยคำ คือผลิตภัณฑ์แรกของไทยที่ได้รับฉลากคาร์บอนเมื่อช่วงต้นปี 51       

       นายเกษม ทิพย์แก้ว ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า สตรอเบอร์รี่อบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของโรงงาน ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฉลากคาร์บอนเมื่อปี 50 ก็มีการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต       

       จากเดิมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน ก็เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจี ไฟฟ้า รวมทั้งก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่เกิดขึ้นในโรงงาน ซึ่งแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20% แต่ก็คุ้มค่าที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ และสินค้าก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 250 ตันต่อปี เป็น 300-350 ตันต่อปี ซึ่งผลิตภัณฑ์ 80% จำหน่ายในประเทศ และ 20% ส่งออกไปยังยุโรป ออสเตรเลีย จีน และญี่ปุ่น
   
       ในอนาคตโรงงานดอยคำมีแผนจะขอการรับรองฉลากคาร์บอนให้แก่ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเชอร์รี่อบแห้งที่มีกระบวนการผลิตคล้ายกันกับสตรอเบอร์รีอบแห้ง ก่อนที่จะขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาและนำไปปฏิบัติตาม
   
       ทั้งนี้ ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ของไทยจำนวน 56 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย กระเบื้อง ปูนซีเมนต์ เซรามิค พรม และถุงยางอนามัย เป็นต้น และยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะตามมา รวมทั้งฉลากคาร์บอนอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
   
       ตามดู "รอยเท้าคาร์บอน" ก่อนคิดจะปล่อย CO2 เพิ่มให้โลก
   
       "ฉลากลดคาร์บอนรีดักชัน เป็นฉลากคาร์บอนประเภทหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงโดยใช้กระบวนการผลิตเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักถึงการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการเริ่มต้นไปสู่สากลคือ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่บอกให้ทราบว่าตลอดชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแก่เริ่มต้นผลิตจนถึงการกำจัดเมื่อเป็นขยะจะปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่" รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ให้ข้อมูล
   
       รศ.ดร.ธำรงรัตน์ เผยอีกว่าการศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่จะมีมาตรฐานสากลในการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า คือมาตรฐาน ISO 14067 และในปี 2554 ประเทศฝรั่งเศสจะเริ่มมีระเบียบบังคับให้ผลิตภัณฑ์นำเข้าทุกชนิดต้องแสดงฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขณะที่ญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรปก็ตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก โดยนำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กับผลิตภัณฑ์แล้วหลายชนิด
   
       "ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เริ่มใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราใช้โอกาสนี้ที่จะเป็นผู้นำอาเซียนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศเพื่อนบ้านในด้านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต (LCA) และการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์" รศ.ดร.ธำรงรัตน์ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในระหว่างนำคณะนักวิจัยจาก 8 ประเทศในอาเซียน เข้าศึกษาดูงาน ณ โรงงานดอยคำ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 51
   
       รศ.ดร.ธำรงรัตน์ กล่าวต่อว่าการส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ของไทย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศและการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูลและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า ทำให้ผู้ผลิตต้องแข่งขันกันผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นต่อๆ ไป
   
       16 บริษัทส่งออก ประเดิมใช้เครื่องหมาย "คาร์บอนฟุตพริ้นท์"
   
       นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า อบก. ร่วมกับเอ็มเทค สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยเริ่มจากศึกษาวิธีการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของต่างประเทศ และพัฒนาเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับประเทศไทย
   
       จากนั้นคัดเลือกบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการเพื่อฝึกอบรมการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเมื่อกลายเป็นของเสีย โดยคำนวนออกมาเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เบื้องต้นได้ 16 บริษัท ที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นกลุ่มแรกในไทย ซึ่งได้มีการลงนามสัญญาการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 52 ณ โรงแรมสยามซิตี โดยมีระยะเวลา 2 ปี และจะมีการตรวจประเมินทุกๆ 6 เดือน
   
       อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ อบก. จะส่งเสริมให้มีบุคลากรหรือองค์กรทางด้านที่ปรึกษาสำหรับการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการขอใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่วน อบก. จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่านั้น โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 53 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้เอ็มเทคได้จัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (National LCI Database) เสร็จแล้วจำนวน 307 ข้อมูล เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและสามารถนำไปใช้ในการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้
   
       สำหรับผลิตภัณฑ์ไทยที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก 16 บริษัทแรก มีดังนี้
   
       1. อาหารบริการลูกค้าสายการบิน (แกงเขียวหวาน และ มัสมั่นไก่) บริษัท การบินไทยมหาชน จำกัด
       2. บรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อสำหรับอาหารเหลวและเครื่องดื่ม บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อก จำกัด
       3. อาหารไก่เนื้อ บริษัท เบทาโก จำกัด (มหาชน)
       4. กระเบื้องเซรามิค บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด
       5. ไก่ย่างเทอริยากิ บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
       6. เนื้อไก่สด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
       7. มาม่าเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้ำใส บริษัท เพรสซิเดนท์ไรทซ์โปรดัก จำกัด
       8. น้ำสับปะรดเข้มข้น บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
       9. ข้าวหอมมะลิ 100 % ใหม่ต้นฤดู บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด
       10. แกงเขียวหวานทูนาบรรจุกระป๋อง บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด
       11. เส้นด้ายยืดไนล่อน บริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน)
       12. เครื่องดื่มโคคา-โคลาชนิดบรรจุกระป๋องบรรจุ 325 cc บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
       13. พรมปูพื้น (Axminster Carpet) บริษัท คาร์เปทอินเตอร์แนชั่นแนลไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
       14. ยางรถยนต์ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด
       15. กระป๋องเครื่องดื่มที่ผลิตจาก Line TULC บริษัท บางกอกแคน แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
       16. Cup 16 02 PP บริษัท อีสเทร์นโพลี แพค จำกัด



ที่มา: http://siweb.dss.go.th/news/show_abstract.asp?article_ID=2528

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น