วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์2

3. บทนิยาม (Terms and Definitions)
3.1 การเก็บกักคาร์บอน (Carbon storage)
การเก็บกักคาร์บอนโดยกระบวนการทางชีวภาพหรือที่มีอยู่ในอากาศ ให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่ใช่ก๊าซที่พบในชั้นบรรยากาศ
3.2 การชดเชย (Offsetting)
การนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการประเมินมาหักลบ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ
เรือนกระจกของผลิตภัณฑ์
3.3 การปันส่วน (Allocation)
การแบ่งส่วนปริมาณสารขาเข้า และ/หรือสารขาออก ของกระบวนการหรือระบบของผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาไปยังผลิตภัณฑ์เป้าหมายและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของผลิตภัณฑ์
3.4 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง
3.5 การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Removal)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง

3.6 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงต้นน้ำ (Upstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงก่อนเข้าสู่วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตขององค์กรที่ทำการวัดคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์
3.7 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงปลายน้ำ (Downstream emissions)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์เป้าหมายซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากผลิตภัณฑ์ถูกจำหน่ายออกจากองค์กรที่ทำการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
3.8 ขอบเขตของระบบ (System boundary)
ขอบเขตของกระบวนการที่อยู่ภายใต้ระบบของผลิตภัณฑ์ที่จะทำการพิจารณา
3.9 ข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product category rules: PCRs)
กฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่ถูกกำหนดขึ้นตามแนวทางในการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (Type III environmental declarations)และมีความเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์
3.10 ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data)
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดกิจกรรมการผลิตในโรงงานหรือองค์กร หรือกิจกรรมการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือที่องค์กรมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล

3.11 ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data)
ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลอื่นนอกเหนือข้อมูลปฐมภูมิ
3.12 ชีวมวล (Biomass)
วัตถุที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต แต่ไม่รวมถึงวัตถุที่ถูกทับถมจนเป็นฟอสซิลหรือมีต้นกำเนิดจากฟอสซิล
3.13 ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide Equivalent, CO2e)
ค่าแสดงความสามารถในการทำให้โลกร้อนเมื่อเทียบในรูปปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคำนวณได้จากมวลของก๊าซเรือนกระจกคูณด้วยค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3.14 ศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP)
ค่าศักยภาพของก๊าซเรือนกระจกในการทำให้โลกร้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ โดยคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
3.15 ไบโอเจนิก (Biogenic)
สารที่มาจากชีวมวล แต่ยังไม่เป็นฟอสซิลหรือมาจากฟอสซิล
3.16 สินค้าทุน (Capital goods)
เครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

3.17 ผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product)
ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเดียวกัน และมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์
3.18 หน่วยการทำงาน (Functional Unit)
หน่วยการทำงานของผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้ในการกำหนดขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลสารขาเข้าและสารขาออกจากระบบผลิตภัณฑ์
3.19 หน่วยผลิตภัณฑ์ (Product Unit)
หน่วยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจกำหนดแยกตามน้ำหนัก ปริมาตรหรือขนาดบรรจุ จำนวนย่อยพื้นที่ หรือตามรูปแบบที่วางจำหน่ายอื่นๆ
3.20 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ (Material contribution)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต
3.21 การตัดออก (Cut off)
การไม่นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากระบบมาใช้ในการคำนวณหรือประเมิน

ที่มา : แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กันยายน 2554) โดย คณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น