วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วอลมาร์ทจับมือซัพพลายเออร์ลดปฏิกิริยาเรือนกระจก

ความร่วมมือกับซัพพลายเออร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การพัฒนา
การวัดมาตรฐาน และการประเมินค่าเพื่อการลดปริมาณคาร์บอน ห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ทประกาศลดการปล่อยพลังงานก๊าซเรือนกระจก (GHG) 20 ล้านแมคตริกตันจากซัพพลายเชนทั่วโลกให้ได้ในปี 2558 ตัวเลขนี้เป็นค่ากึ่งหนึ่งของบริษัทฯ ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์ในอีก 5 ปีข้างหน้าและเทียบเท่ากับจำนวนก๊าซที่รถยนต์ปล่อยมาทั้งหมด 3.8 ล้านคันในหนึ่งปี


Mike Duke ประธานและ CEO แห่งวอลมาร์ทกล่าวว่า “การใช้พลังงานและการลดปริมาณคาร์บอนเป็นเรื่องสำคัญของโลกในปัจจุบัน เรากำลังทำงานร่วมกันกับทุกๆ หน่วยงานทั้งการตรวจสอบฟุต พรินท์ในองค์กรเองและซัพพลายเชนทั่วโลก”

สำหรับฟุตพรินท์ของซัพพลายเชนทั่วโลกที่ส่งสินค้าไปยังห้างวอลมาร์ทมีการปล่อยพลังงานมากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับการปฏิบัติการของห้างวอลมาร์ทเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ของซัพพลายเชนลง

“การลดปริมาณคาร์บอนในวงจรผลิตภัณฑ์ส่วนมากหมายถึงการลดใช้พลังงาน นั่นหมายถึงประสิทธิภาพที่มากขึ้น ในขณะนี้ค่าต้นทุนด้านพลังงานมากขึ้น ถ้าลดต้นทุนได้จะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและแข่งขันกับที่อื่นได้ เรายังช่วยซัพพลายเออร์ลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุน และคาร์บอนฟุตพรินท์ ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถช่วยลูกค้าได้เช่นเดียวกัน” Mike Duke กล่าวเสริม
ห้างวอลมาร์ทร่วมมือกับกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อมหรือ Environmental Defense Fund (EDF) เพื่อพัฒนาหามาตรฐานให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ปรึกษาเช่น PricewaterhouseCoopers, ClearCarbon Inc. โครงการ Carbon Disclosure Project และ Applied Sustainability Center ของมหาวิทยาลัยอาแคนซัส หน่วยงานพร้อมที่ปรึกษาจะร่วมกันพัฒนาโครงการ แนวทางการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ สนับสนุนให้ซัพพลายเออร์และตรวจสอบซัพพลายเออร์ตามกระบวนการ และดำเนินการตามกฎระเบียบของการลดพลังงานก๊าซเรือนกระจก
“ในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ทั่วโลกต่างเริ่มแข่งขันกันในเรื่องลดปริมาณคาร์บอน ห้างวอลมาร์ทชูประเด็นนี้ขึ้นมาจะช่วยให้บริษัทหลายแห่งรู้ถึงขั้นตอนการลดต้นทุนและมลพิษ และจะทำให้ซัพพลายเชนต่างๆ หันมาสนใจลดการใช้ปริมาณคาร์บอนกันมากขึ้น” Fred Krupp ประธานกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม กล่าวปิดท้าย

สาระสำคัญของการลดการปล่อยพลังงานก๊าซเรือนกระจก
การคัดเลือก วอลมาร์ทจะเน้นเรื่องการจัดกลุ่มสินค้าตามลำดับการใช้ปริมาณคาร์บอน การหาปริมาณคาร์บอนจะทำโดยหน่วยงาน ASC ซึ่งจะดูสินค้าของวอลมาร์ททั้งหมด ขั้นตอนนี้จะทำให้ทีมวิจัยเน้นเรื่องกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสลดปริมาณคาร์บอน การลดปริมาณคาร์บอนสามารถทำได้ทุกวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

การปฏิบัติ ในขั้นตอนนี้จะต้องลด GHGs ในผลิตภัณฑ์ให้ได้ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการซอร์สซิ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง เมื่อลูกค้านำไปใช้ จนถึงวงจรสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ ห้างวอลมาร์ทจะต้องแสดงเห็นอย่างจริงจังในการลดปริมาณคาร์บอนของสินค้าในเครือ
การประเมินผล ซัพพลายเออร์และห้างวอลมาร์ทจะช่วยกันรับผิดชอบเรื่องการลดพลังงาน หน่วยงาน ClearCarbon จะปฏิบัติในเรื่องวิธีการการรักษาคุณภาพตามระเบียบวิธีวิจัย หลังจากนั้น PricewaterhouseCoopers จะประเมินว่าสินค้านั้นผ่านกระบวนการตรวจสอบตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มาคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันเถอะ!


โปรแกรมการคำนวณนี้จัดทำโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาดูกันซิว่าแต่ละวันท่านปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณเท่าไหร่ มาคำนวณกันเลย 



ขนาดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่คำนวณโดยเว็บไซด์นี้ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยทั่วไป ได้แก่ กิจกรรมในบ้านเรือน กิจกรรมในสถานที่ทำงาน การเดินทางไปทำงานหรือสันทนาการ ตลอดจนกิจกรรมการบริโภคอาหาร แสดงผลเป็น กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมทั้งการแสดงผลในรูปกราฟบ่งชี้กิจกรรม ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด และพื้นที่ป่าที่ต้องการในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อการชดเชยการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนทางเลือกในการช่วยลดปริมาณ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Water Footprint3

หลังจากที่ท่านได้เริ่มรู้จักคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ (Carbon footprint) กันไปบ้างแล้ว และบางองค์กรอาจจะชิมลางคำนวณวัดรอยเท้าคาร์บอนของตัวเอง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการออกฉลากคาร์บอนผลิตภัณฑ์ ของตัวเองกันแล้ว ทีนี้เราลองมาทำความรู้จักและเตรียมรับมือกับรอยเท้าใหม่อีกรอยเท้าหนึ่ง นั่นคือ“รอยเท้าน้ำ”หรือ” Water footprint “


 ข้อกำหนดของ Water footprint มีอะไรบ้าง ลองมาดูกันหน่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบอกก่อนว่า ยังไม่รับประกันว่าจะมีการปรับปรุงไปต่างจากนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะสถานะตอนนี้เป็นแค่ ISO /PWD (3) 14046 Water footprint -Requirements and guidelines เท่านั้น ดังนี้
1. Scope
2. Notmative reference
3. Terms and definitions
4. Methodological framework for water footprint
4.1 General requirements
4.2 Goal and scope definition
4.3 Water inventory
4.4 Water impact asessment and interpretation
4.5 Interpretation of the result 
          5. Reporting
5.1 General
5.2 Water inventory
5.3 Water inpact assessment 
6. Critical review
6.1 General principle for review
6.2 Need for critical review
6.3 Critical review panel
 
 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของ terms and definition หลายๆ คำก็พบว่ายังไม่มีความชัดเจน เช่น Water stress ตามนิยามหมายถึง situation in where stress on the environment and human occurs related to the water impact, either because of demand on it or when poor water quality restricts its use ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในแต่ละพื้นที่ แต่ละทวีป ว่าระดับ stress เป็นตัวเลขเพื่อนำมาใช้ในการประเมินนั้นเป็นอย่างไร จำเป็นหรือไม่ต้องมีการกำหนดเป็นค่ากลางขึ้นมา เช่นเดียวกับ คาร์บอนที่มีการกำหนดค่า Global waring potential เพื่อใช้ในการคำนวณ ทำให้ค่าที่ได้มีความน่าเชื่อถือและเป็นค่าสากลที่สามารถใช้ในการเทียบเคียงปัญหาน้ำทั้งโลกทุกทวีปได้ หรือ แม้แต่คำว่า Water quality ที่ครอบคลุม คุณภาพทางกายภาพ ชีวภาพ หรือเคมี หรือมีขอบเขตเท่าใด เป็นต้น


 ซึ่งทั้งนิยามและข้อกำหนดยังต้องมีการถกกันในที่ประชุมอีกหลายเวทีและหลายครั้งจนกว่าจะคลอดออกมาเป็น ISO ฉบับใช้งาน น่าจะราวสัก 3-5 ปี เมื่อมองย้อนกลับมาในประเทศไทย หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำของประเทศ พบว่ามีหลายหน่วยงานด้วยกันที่จะต้องทำการบ้านเป็นการด่วนเพื่อรองรับมาตรฐานนี้ เช่น กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เนื่องจากในการคำนวณจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลการใช้และบริโภคน้ำในแต่ละกิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่าบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม หนีไม่พ้นที่ต้องใช้ฐานข้อมูลด้านน้ำในการคำนวณผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ส่งเข้าภาคอุตสาหกรรมอีกต่อหนึ่ง

แล้วฉลาก water footprint เป็นอย่างไร

 Water footprint เป็นฉลากแสดงปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบจนถึงการทำลายทิ้ง โดยใช้วิธีการประเมินแบบเดียวกับฉลากคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ เราลองมาดูกันเล่นๆ ซิว่า อาหารที่กินในแต่ละวันต้องใช้น้ำในการผลิตกันไปเท่าไหร่บ้าง มีฝรั่งคำนวณไว้ให้แล้วในตารางที่ 1

 

 ต่อไปนี้จะทำอะไร จะกินอะไร อาจจะต้องมานั่งคำนวณว่าใช้ทรัพยากรน้ำกันไปมากน้อยแค่ไหน แม้แต่จะดื่มกาแฟแก้วหนึ่ง ยังต้องมาคิดเทียบกลับว่าดื่มน้ำดีกว่าหรือไม่ เพราะกาแฟแก้วหนึ่งต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตถึง 150 ลิตร แล้วเราจะเลือกดื่มกาแฟหรือน้ำดีกว่ากัน..... ไม่รู้ว่าทำแล้วได้อะไร แต่ในมุมมองของผู้เขียนเอง คิดว่าอย่างน้อย ก่อนที่จะทำอะไรใช้ชีวิตในแต่ละวัน ต้องมีสติพิจารณากันสักนิด ว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากน้อยแค่ไหน อย่ามุ่งเข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยมจนเกินงาม เพราะทุกสิ่งอย่างที่บริโภค อุปโภคอยู่นั้น หมายถึง ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงคนทั้งโลกถูกใช้ไปทุกๆ วันและอาจจะไร้ประโยชน์เสียด้วยในบางครั้ง เราเองอาจจะได้ประสบภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงชีวิตของเราก็เป็นได้ ถ้าไม่เริ่มประหยัดและอนุรักษ์น้ำกันตั้งแต่วันนี้

ที่มา : ดร.จิราวรรณ จำปานิล ผู้จัดการแผนกสิ่งแวดล้อม Jirawan.j@npc-se.co.th

Water Footprint2

ปัญหาน้ำ-ปัญหาโลก

    หากเราแบ่งโลกออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน  จะพบว่า 3 ใน 4 ส่วนของโลกคือน้ำ   แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าเรามีน้ำมากมายมหาศาล เพราะแท้จริงแล้วเรามีน้ำจืดเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น  ส่วนที่เหลือร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็ม และที่สำคัญ 2 ใน 3 ของปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ก็อยู่ในสภาพของน้ำแข็งบ้าง ส่วนที่ไม่ใช่น้ำแข็งส่วนใหญ่ก็อยู่ใต้ดินบ้าง  ดังนั้นน้ำบนดินที่ปรากฏให้เห็นในแม่น้ำ คู คลอง หนอง บึง  นั้นนับว่าเป็นน้ำส่วนที่น้อยอย่างยิ่งของน้ำในโลก-ดวงดาวสีน้ำเงินใบนี้


    องค์การสหประชาชาติ หรือ UN    เปิดเผยในการประชุมระดับโลกทางด้านน้ำจืด  หรือ World Water Forum  ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปี ค.ศ. 2008  ว่าประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.5 พันล้านคนในปัจจุบันเป็น 9 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2050     โดยเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและหลายพื้นที่ เช่น แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  อัตราการเติบโตของประชากรดังกล่าวทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย    แต่ละปีประชากรโลกมีความต้องการน้ำจืดเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 64,000 ล้านลูกบาศก์เมตร  ในขณะที่ทรัพยากรน้ำของโลกร่อยหรอลงไปอย่างต่อเนื่อง  ความน่าจะเป็นในการเกิดปัญหาด้านการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงมีค่อนข้างสูง    คาดว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะประสบปัญหาดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณสาธารณรัฐประชาชนจีนและเอเชียใต้  ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

    มีตัวเลขจาก UN    ยืนยันเช่นกันว่า แม้โลก จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 3 ใน 4 ส่วน   แต่ประชากร 1 ใน 5 ของโลกกลับขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการบริโภค  ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตจากโรคภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการบริโภคถึงปีละ 27 ล้านคน หรือ 1 คนในทุก 8 วินาที ช่างเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม  พบว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา   ปัญหาเกี่ยวกับน้ำนั้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายของโลกลดลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำสายสำคัญของโลก 9 สาย  อันได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน  แม่น้ำดานูบ  แม่น้ำลาปาสตา  แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ แม่น้ำไนล์  แม่น้ำมอเรย์แอนด์ดาร์ลิง และแม่น้ำแยงซี   ซึ่งทั้งหมดกำลังเกิดวิกฤติจากปริมาณน้ำที่ลดลงถึงร้อยละ 50 และยังพบว่าทะเลสาบในจีนกว่า 500 แห่ง ได้หายไป   เนื่องจากการจัดการชลประทานเพื่อการเพาะปลูกขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำกลายเป็นวิกฤติโลก  มิใช่เพียงอัตราการเติบโตของประชากรโลกเท่านั้น   หากยังเกิดจากการสร้างความสะดวกสบาย  และหรูหราของมนุษย์เมื่อมีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น   มีการอพยพเข้ามาสู่สังคมเมืองมากขึ้น รูปแบบของการบริโภคอาหารก็เปลี่ยนแปลงไป   โดยสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นกว่าการบริโภคพืชผักผลไม้ดังที่เคยเป็นมา      เมื่อครั้งอดีตการผลิตสัตว์นั้นจำเป็นต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตพืช   กล่าวคือ การผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมใช้น้ำ 3,000- 15,000 ลิตร   ในขณะที่การผลิต ข้าว 1 กิโลกรัมใช้น้ำเพียง 1,000 ลิตร   อีกทั้งมลพิษทางน้ำที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม  อันขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้ความรุนแรงของวิกฤติน้ำเพิ่มสูงขึ้น

    นอกจากนี้ในระดับโลก   พบว่า ปัญหาเรื่องน้ำยังไม่มีองค์กรใดเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาทั้งระบบอย่างแท้จริง  ไม่เหมือนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  ที่มีหน่วยงานมารองรับ มีกระบวนการทำงาน  และเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันในการจัดการปัญหา     ตลอดจนประชากรโลกเองก็ยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำและปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างแท้จริง แม้จะมีคำกล่าวว่า น้ำคือชีวิต”  ให้ได้ยินมานานแล้วก็ตามประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิดคือ การผลิตพืชพลังงาน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฮโดรคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน      หลังจากที่การใช้พลังงานจากไฮโดรคาร์บอนเริ่มสร้างปัญหาให้กับโลกใบนี้  กอปรกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในภาวะผันผวนและถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กระบวนการผลิตพืชพลังงานทดแทนดังกล่าวมีการใช้น้ำถึง 2,500 ลิตร   เพื่อผลิตให้ได้ biofules  1 ลิตร   การเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารส่งออก    หรือการเป็นครัวของโลกนั้น ส่งผลให้การใช้น้ำในประเทศสูงจนน่าตกใจ (อีกแล้ว)      เพราะสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกนั้นมีการใช้น้ำในประเทศผู้ผลิต   และเมื่อประเทศผู้นำเข้าซื้อไปบริโภคก็เปรียบเหมือนเป็นผู้ใช้น้ำของประเทศผู้ผลิตในทางอ้อมด้วย เรียกว่า เป็นผู้ใช้น้ำเสมือนหรือ virtual water และเมื่อภาวะขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น   การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น    ในทางกลับกันหากเราผลิตให้เพียงพอในระดับหนึ่ง (ตอบได้ยากว่าจะเป็นระดับไหน) เราก็จะมีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนคนไทยด้วยกัน และยังเหลือไว้สำหรับลูกหลานในอนาคตด้วยความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ   การเติบโตของประชากรโลก    การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต และความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง    ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องน้ำอย่างรุนแรงในอนาคต   จึงเป็นที่มาของคำว่า Water Footprint 
นั่นเอง

Water Footprint : รอยย่ำของน้ำ

   จะว่าไปแล้ว แนวคิดเรื่อง Water Footprint และ Carbon Footprint  นับว่าไม่แตกต่างกันมากนัก  โดย Water Footprint เป็นแนวคิดเกี่ยวกับปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้า และบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง   ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์การระหว่างประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤติน้ำที่เกิดขึ้น เช่น  UNESCO IFC WWF และ WBCSD เป็นต้น โดยได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่าย Water Footprint ทำการศึกษา footprint ในสินค้า และบริการต่างๆ   ที่แต่ละประเทศผลิต   และขยายไปในระดับโลก   ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.waterfootprint.org

          Water footprint  เป็นเครื่องชี้วัดการใช้น้ำของผู้บริโภคหรือผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม ดังนั้น Water footprint ของสินค้าหรือบริการ จึงเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยคำนวณปริมาณน้ำจากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่ของการผลิตสินค้าและบริการนั้น        ปริมาณน้ำที่ใช้สามารถวัดได้จากปริมาณน้ำที่ใช้ไปและ / หรือปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมา  ทำให้ Water footprint เป็นเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน  เพราะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำที่ใช้และปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมาเท่านั้นหากแต่แสดงให้เห็นถึงสถานที่และระยะเวลาที่เกิดการใช้น้ำ

          Water footprint ทั้งหมดสามารถแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ (1) blue water footprint (2) green water footprint และ (3) gray water footprint  แต่ละส่วนมีที่มาแตกต่างกันออกไป ดังนี้

          Blue Water Footprint  รอยย่ำน้ำสีน้ำเงิน  (แปลตามสำนวนผู้เขียนเอง)     ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งแหล่งน้ำผิวดินเช่นน้ำในแม่น้ำทะเลสาบรวมทั้งน้ำในอ่างเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และแหล่งน้ำใต้ดินอันได้แก่น้ำบาดาล ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

          Green Water Footprint รอยย่ำน้ำสีเขียว หมายถึง ปริมาณน้ำที่อยู่ในรูปของความชื้นในดินที่ถูกใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืชผลทางการเกษตร การทำไม้ และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

          Gray Water Footprint รอยย่ำน้ำสีเทา  หมายถึง  ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ  ซึ่งคำนวณจากปริมาณน้ำที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีตามค่ามาตรฐาน      ดังนั้น Water Footprint     จึงมีทั้งปริมาณน้ำที่ใช้โดยตรงและโดยอ้อม  ปริมาณน้ำที่ใช้ดังกล่าวต่างก็ประกอบด้วยรอยย่ำของน้ำทั้ง 3 ประเภท  ทั้งนี้ รอยย่ำสีน้ำเงิน และสีเขียวเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ หรือ water consumption ส่วน รอยย่ำสีเทาเป็น ปริมาณน้ำเสีย หรือ water pollution

    สำหรับหน่วยวัดของ water footprint  มีหน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตร/ตัน โดย water footprint ในพืช คำนวณจาก  ปริมาณน้ำที่พืชใช้ (ลูกบาศก์เมตร/เฮกตาร์) / ปริมาณผลผลิตของพืชนั้น (ตัน/เฮกตาร์)   ส่วน water footprint ในสัตว์  คิดจาก ปริมาณน้ำทั้งหมด ในการผลิตและให้อาหารสัตว์ น้ำดื่มของสัตว์ และน้ำที่ใช้ในการกิจการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เช่น น้ำที่ใช้เพื่อทำความสะอาดคอกสัตว์ น้ำที่ใช้ในการระบายความร้อน เป็นต้น สำหรับ water footprint  ในผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ เป็นผลรวมของ  water footprint  การผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนกระทั่งสิ้นสุดได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์นั้นๆ รอยย่ำของน้ำ-เท่าไหร่?

    จากข้อมูลรายงานการศึกษาของ  ศาสตราจารย์ Arjen Y. Hoekstra  แห่ง Twente Water Center, University of Twente  เนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับ water footprint ในอาหาร โดยนำเสนอข้อมูลในระดับโลกและระดับประเทศเป็นรายสินค้า ภายใต้กรอบแนวคิดใหม่ที่นำผู้ใช้น้ำเสมือนเข้ามามีส่วนร่วมใน water footprint ด้วย จากเดิมตีกรอบแนวคิดเฉพาะ water footprint ของประเทศนั้นๆ เท่านั้น หมายถึง ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศนั้น  ไม่ว่าสินค้าหรือบริการนั้นจะผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือเพื่อการส่งออกก็ตาม   โดยประเทศผู้นำเข้าสินค้าและบริการนั้นไม่มีส่วนรับผิดชอบกับปริมาณ water footprint ดังกล่าวแต่อย่างใด
        
    แนวคิดใหม่ที่นำน้ำเสมือนมาคำนวณด้วย จะทำให้มองเห็นภาพรวมของ water footprint  ในระดับโลกอย่างแท้จริง  และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุด water footprint  ของแต่ละประเทศภายใต้แนวคิดใหม่นี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ water footprint ภายใน หมายถึง ปริมาณน้ำที่ใช้ภายในประเทศเพื่อผลิตสินค้าและบริการสำหรับประชาชนในประเทศนั้นและ water footprint ภายนอกหมายถึงปริมาณน้ำที่ใช้ในประเทศอื่น เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้ประเทศนั้นนำเข้ามาบริโภค ดังนั้น ปริมาณน้ำเสมือนที่ส่งออก(virtual water export) มีค่าเท่ากับผลรวมระหว่างปริมาณน้ำเสมือนที่นำเข้าเพื่อการส่งกลับสินค้าและบริการ (virtual water import for re-export)กับปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการส่งออกและผลรวมของปริมาณน้ำเสมือนที่นำเข้า (virtual water import) กับปริมาณน้ำที่ใช้ในประเทศนั้น(water use within country)  คือ  จำนวนของปริมาณน้ำเสมือน (virtual water budget) ของประเทศนั้น

    ผลการศึกษาในช่วงปี 1997-2001 พบว่า ค่าเฉลี่ย water footprint ของโลก เท่ากับ 1,243ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี   โดยประเทศที่มีwater footprint  สูงสุด 10 อันดับแรก (คิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากร) ได้แก่ 


     (1) สหรัฐเอมริกา  2,485 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี 
     (2) อิตาลี 2,332  ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี  
     (3) ไทย  2,223 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี  
     (4) แคนาดา  2,049 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี 
     (5) ฝรั่งเศส  1,875 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี 
     (6) รัสเชีย 1,858 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี  
     (7) เยอรมนี 1,545  ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี 
     (8) เม็กซิโก 1,441 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี 
     (9) ออสเตรเลีย 1,393 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี
    (10) บราซิล 1,381 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี


      สำหรับค่า water footprint  ของประเทศไทยสูงถึงอันดับ 3 ของโลก  เป็นผลมาจากการใช้น้ำที่ขาดประสิทธิภาพ โดยมีการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้า1 หน่วยสูงมากเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำในการเกษตรสูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี  ซึ่งเกิดจากการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ทำให้มีผู้ใช้น้ำเสมือนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนอาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยได้





    นอกจากนี้ ยังได้คำนวณหาค่าเฉลี่ยในระดับโลกสำหรับปริมาณน้ำเสมือนที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่อหน่วย มีหลายค่าที่น่าสนใจ เช่น เบียร์ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) ใช้น้ำในกระบวนการผลิตทั้งหมด 75 ลิตร  นม 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) ใช้น้ำ 200 ลิตร   กาแฟ 1 แก้ว (140 มิลลิลิตร)ใช้น้ำ 140 ลิตร ไวน์  1 แก้ว (125 มิลลิลิตร) ใช้น้ำ 120 ลิตร  น้ำส้ม 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) ใช้น้ำ 170 ลิตร ไข่ 1 ฟอง (40 กรัม)  ใช้น้ำ 135 ลิตร  เสื้อยืดคอกลมทำจากเส้นใยฝ้าย 1 ตัว ใช้น้ำ 2,000 ลิตร  กระดาษ ขนาด A4    ความหนา 80 แกรม  1 แผ่น ใช้น้ำ 10 ลิตร  หรือแม้แต่ ไมโครชิป (2 กรัม) 1 ตัว ใช้น้ำ 32 ลิตร จากที่กล่าวมาข้างต้น    สาเหตุหนึ่งของวิกฤติน้ำเกิดจากการผลิตพืชทดแทนพลังงาน  ซึ่งมีรายงานว่า การผลิตพืชพลังงานทดแทนในแต่ละชนิดจะใช้ปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน โดยแยกเป็น blue water และ green water   กล่าวคือ กรณีการผลิตเอทานอล 1 ลิตร  จากอ้อย ใช้น้ำทั้งหมด 2,516 ลิตร เป็น blue water 1,364 ลิตร green water 1,152 ลิตร ถ้าผลิตเอทานอล 1 ลิตร จากมันสำปะหลัง ใช้น้ำทั้งหมด 2,926 ลิตร เป็น blue water 420 ลิตร  green water 2,506 ลิตร  หรือการผลิต biodiesel  1 ลิตร  จากถั่วเหลือง ใช้น้ำ 13,676 ลิตร  เป็น blue water 7,512 ลิตร และgreen water 6,155 ลิตร ซึ่งคงต้องหาแนวทางอื่นๆ มาประกอบกันเพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้  หากการศึกษาด้าน water footprint สมบูรณ์กว่าปัจจุบัน  และหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว สามารถผลักดันให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของปัญหาทรัพยากรน้ำของโลกที่ใกล้เข้าสู่วิกฤติได้ เชื่อแน่ว่าเราจะได้เห็นการบังคับให้ติดฉลาก water footprint ในสินค้าและบริการอย่างแน่นอน เพราะมนุษย์ทุกคนคงอยากได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้รักษ์โลก        มากกว่ามนุษย์ที่เกิดมาเพื่อการทำลายล้างเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่มิอาจมองข้ามได้ คือ ความจริงที่ว่าขาดน้ำมันเรายังมีชีวิตอยู่ได้แต่ขาดน้ำ ชีวิตของมนุษย์ต้องจบสิ้นแน่นอน ตื่นกันเถอะพี่น้อง โลกเขาไปถึงไหนแล้ว!

ที่มา : อังคณา สุวรรณกูฏ กองบรรณาธิการจดหมายข่าวผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ







           

Water Footprint1

ฉลากแสดง “water footprint” เป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค (supply chain) สินค้าที่มี water footprint น้อยย่อมได้รับความสนใจมากกว่าสินค้าที่มี water footprint มากเพราะมีการใช้น้ำ (consumption) และทำให้น้ำสกปรก (pollution) น้อยกว่า  
๑ แนวความคิดเรื่อง water footprint เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.๒๐๐๒ โดยศาสตราจารย์ Arjen Y.Hoekstra แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการคำนวณ water footprint นอกจากทำให้เห็นภาพปริมาณการใช้น้ำที่ซ่อนเร้นอยู่ในการผลิตสินค้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาประเมินผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการค้าต่อการใช้ทรัพยากรน้ำได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลภาวะทางน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตสินค้าและ supply chain ทั้งระบบ
ตัวอย่างการคำนวณ water footprint เช่น ในการผลิตมะเขือเทศ ๑ ก.ก.จะต้องใช้น้ำทั้งหมด 1๑ ลิตร, น้ำตาล ๑ ก.ก.ใช้น้ำ ๑,๕๐๐ ลิตร, ข้าว ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๓,๔๐๐ ลิตร, เนื้อไก่ ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๓,๙๐๐ ลิตร, เนื้อวัว ๑ ก.ก. ใช้น้ำ ๑๕,๕๐๐ ลิตร, กาแฟ ๑ ถ้วย ใช้น้ำ ๑๔๐ ลิตร และแฮมเบอร์เกอร์ ๑ ชิ้น ใช้น้ำ ๒,๔๐๐ ลิตร เป็นต้น
๒. ประโยชน์ของ water footprint การมีข้อมูล water footprint ที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น
๒.๑ สำหรับผู้ผลิต  การนำกลยุทธ์ลด water footprint มาใช้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างจุดแข็งให้กับบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ เพราะแสดงว่าคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม การลด water footprint ในการผลิตสินค้ายังช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาขาดแคลนน้ำซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ภาครัฐออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับ water footprint ในอนาคต 
๒.๒ สำหรับผู้บริโภค การระบุข้อมูล water footprint บนฉลากสินค้าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด โดยผู้บริโภคอาจหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มี water footprint น้อยแทนสินค้าที่มี water footprint มาก (เช่น กินเนื้อสัตว์ลดลงแล้วหันมาทานผักเพิ่มขึ้น[1] ดื่มน้ำหรือน้ำชาแทนกาแฟ เป็นต้น) หรือ ผู้บริโภคอาจเลือกซื้อสินค้าแบบเดิมแต่เลือกจากแหล่งผลิตหรือวิธีการผลิตที่มี water footprint ต่ำกว่าแทน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปในสู่ทางเลือกของสินค้าที่มี water footprint ต่ำ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของโลกและนำไปสู่แนวทางการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น 
๓. การวางแผนการจัดการน้ำ (water management) ประเทศต่างๆ มักวางแผนการจัดการน้ำแค่เพียงในระดับประเทศเท่านั้น แต่ขาดการวางแผนในเชิงมิติระดับโลก (global dimension) โดยพยายามลดความต้องการใช้น้ำภายในประเทศและยึดความยั่งยืนของการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้น้ำมาก (water-intensive products) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยปราศจากการคำนึงถึงว่าสินค้าที่นำเข้านั้นจะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมหรือมลภาวะทางน้ำต่อประเทศผู้ผลิตอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการผลักภาระ water footprint ออกไปนอกประเทศ ทำให้แรงกดดันด้านทรัพยากรน้ำไปตกอยู่กับประเทศผู้ส่งออกซึ่งมักเป็นประเทศที่ยังขาดกลไกในการจัดการและอนุรักษ์น้ำ อนึ่ง การจัดทำบัญชี National water footprint ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของสถิติที่เกี่ยวกับน้ำในระดับประเทศ (National water statistic) และใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนจัดการน้ำหรือบริเวณลุ่มน้ำทั้งหลาย (river basins) รวมถึงการมีข้อมูล water footprint ที่ถูกต้องยังช่วยให้เกษตรกรและผู้วางนโยบายของประเทศสามารถตัดสินใจได้ว่าควรเพาะปลูกพืชที่ต้องการใช้น้ำมากในบริเวณใดมากกว่า ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การคำนวณ water footprint ยังสามารถนำมาใช้ต่อรองราคาการให้บริการด้านสภาพแวดล้อม (ecological services) ของสินค้าแต่ละชนิด และสามารถใช้เป็นดรรชนีชี้วัดความยั่งยืน (sustainability indicator) ที่ใช้ในการกำหนดนโยบายการค้าและการลงทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 
ในเรื่องนี้ สำนักงานฯ ขอเรียนข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ก)   น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการใช้น้ำกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนประชากรและความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำสะอาดสำหรับผลิตอาหารและพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๙๐ เมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำสะอาดทั้งหมดของโลก แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำสะอาดที่มีอยู่ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางน้ำที่เกิดจากมนุษย์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปัญหาขาดแคลนน้ำทวีรุนแรงมากขึ้นในหลายส่วนของโลก ดังนั้น การใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งทางตรงและทางอ้อมและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบปฏิบัติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ข)   ฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาการผลิตสินค้าไปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นการแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ฉลากสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่รู้จัก เช่น ฉลากแสดงระยะทางขนส่ง (Food Miles Label) และฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint) เป็นต้น สำหรับ “ฉลากแสดงร่อยรอยของการใช้น้ำ” หรือ “water footprint” ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะกลายเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต การแสดง water footprint บนฉลากสินค้า ในแง่หนึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้การผลิตสินค้ามีการใช้น้ำและมีน้ำเสียลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทรัพยากรน้ำของโลก ในอีกแง่หนึ่งภาคธุรกิจอาจใช้ water footprint เป็นเครื่องมือในการสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าหรือบริษัทว่ามีการคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้นและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (value added)
ค)   การประเมินผลกระทบของ water footprint นอกจากต้องดูจากปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้าแล้ว (เช่น มะเขือเทศที่ปลูกในฝรั่งเศส สเปนและอิตาลีมี water footprint เท่ากับ ๔๔, ๕๓ และ ๑๐๖ ลูกบาศก์เมตร/ตัน[2] เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน) ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำ (source of water) ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น “blue water” (น้ำใต้ดิน น้ำผิวดินและน้ำที่มาจากการชลประทาน, “green water” (ปริมาณน้ำฝนที่ระเหยในกระบวนการผลิต) และ “gray water” (ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น) จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าการผลิตสินค้าในแต่ละแห่งมีผลกระทบต่อการใช้น้ำแตกต่างกันอย่างไร
ง)   การลด water footprint น่าจะถูกจัดให้เป็นเป้าหมายหนึ่งทั้งในระดับประเทศ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยภาครัฐควรส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสนับสนุนสินค้านำเข้าที่ผนวกเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้น้ำเข้าไว้ด้วย ภาคธุรกิจควรพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำให้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการทำลายสภาพแวดล้อม ส่วนผู้บริโภคสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ลดการใช้น้ำโดยตรง ลดการทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่าและลดการบริโภคสินค้าที่ต้องใช้น้ำมาก เป็นต้น
จ)   ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของยุโรป ทำให้ EU ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การนำฉลาก water footprint มาใช้จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการผลิตสินค้าโดยใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด อย่างไรก็ดี water footprint จะเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายในระดับ EU หรือไม่นั้น ในระยะสั้นแล้วอาจมีโอกาสความเป็นไปได้ต่ำ เพราะ EU ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง ซึ่งเท่ากับว่า EU จะถูกโจมตีว่าเป็นตัวการสำคัญในการผลักภาระการใช้น้ำไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้ วิธีการคำนวณ water footprint ในปัจจุบัน ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะบ่งบอกถึงผลกระทบจากการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หาก EU จะนำ water footprint มาเป็นมาตรฐานวัดความมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของสินค้าที่นำเข้า จึงจำเป็นต้องรวมเอาตัวแปรสิ่งแวดล้อมน้ำ (water environment) ของแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วย ซึ่งข้อมูล water footprint ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ จึงยากที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายระดับ EU แต่ทว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ภาคเอกชนอาจส่งเสริมการติดฉลาก water footprint เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะผู้บริโภคใน EU ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
ฉ)   สำหรับประเทศไทย ข้าวและเนื้อไก่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าที่ต้องใช้น้ำมากในการผลิตและมี water foodprint สูง (เท่ากับ ๓,๔๐๐ ลิตร และ ๓,๙๐๐ ลิตรต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) การพัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่อให้สินค้าเศรษฐกิจทั้งสองชนิดนี้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสียน้ำในระหว่างกระบวนการผลิตและลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตต่อหน่วยให้เพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถรักษาศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการผลิตที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อุตสาหกรรมไทยแห่ติด‘ฉลากคาร์บอน’ หวั่นต่างชาติยกเลิกออเดอร์ส่งออกยุโรป!

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในไทย แห่ติด ‘3 ฉลากคาร์บอน’ หวังเกาะกระแสผู้บริโภคในตลาดยุโรปเชื่อหากไม่ดำเนินการหวั่นถูกถอนออเดอร์และถูกแย่งตลาดส่งออก ขณะเดียวกัน การติดฉลากจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น พร้อมสะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ -บ่งชี้วัฐจักรสินค้ายั่งยืน ด้านประเทศฝรั่งเศสดันฉลากคาร์บอนเข้าบังคับใช้ตามกฎหมาย สภาอุตฯเผยกระแสภาคการส่งออก และกำลังซื้อผู้บริโภคลดโลกร้อนมาแรง! 

              ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรวดเร็วมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในปัจจุบัน  ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต่างตื่นตัว และหันมาให้ความสำคัญ พร้อมมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้ 'ฉลากคาร์บอน' ในรูปแบบต่างๆ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท และอาจกลายเป็นปัจจัยหลักที่น่าจับตามองในการตัดสินใจซื้อสินค้าต่าง ๆ ของผู้บริโภค และภาคการส่งออกในอนาคตอันใกล้ อาทิ เลือกซื้อสินค้า หรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  “ผู้นำเข้าสารทำความหวานที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในหมากฝรั่งบางรายของประเทศอเมริกาต้องการให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก่อนตัดสินใจนำเข้า และมีผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสหลายรายมีกฎในการคัดเลือกผู้ส่งออก โดยกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์” เจ้าหน้าที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกระบุ  ผู้ประกอบการรายใหญ่แห่ติด ‘3 ฉลาก’ รักษ์โลก              ส่วนบทบาทฉลากคาร์บอนในประเทศไทยนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแล ให้การส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชนในด้านการบริหาร การจัดการก๊าซเรือนกระจก และเป็นผู้ตรวจสอบ รับรองตรา หรือฉลากแก่บริษัท และผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีด้วยกัน 3 ฉลากดังนี้ 
             
1.ฉลากลดคาร์บอน หรือ Carbon Reduction label เป็นเครื่องหมายแสดงการลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วย เช่น ในกระบวนการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าใด หลังจากที่ผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์แล้ว เป็นต้น

2.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ‘Carbon Footprint’ เป็นเครื่องหมายแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่แหล่งการได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการสินค้าหลังใช้ ครอบคุมทุกขั้นตอน ส่วนใหญ่ผู้ส่งออก และผู้นำเข้ายังต่างประเทศนิยมติดฉลากนี้
              
3.เสื้อผ้าลดโลกร้อน หรือ ‘CoolMode’ เป็นเครื่องหมายที่ใช้ติดเฉพาะเสื้อผ้าหรือผ้าผืนเท่านั้น รวมถึงการแปรรูปเป็นชุด เช่น ชุดทำงาน ชุดลำลอง ฯลฯ ซึ่งจะมีป้ายระบุชนิดเส้นใย สัญลักษณ์การซักรีด หรือวิธีการซักรีด ฯลฯ ซึ่งมีเกณฑ์ในการวัดด้านความปลอดภัย อาทิ ปราศจากสารก่อมะเร็ง และมีคุณสมบัติการช่วยลดโลกร้อนในทางอ้อมหรือไม่ อาทิ ผ้าที่สวมใส่แล้วเย็นสบาย ระบายความร้อนได้ดี ทำความสะอาดง่าย คงทนต่อการสวมใส่ เพื่อลดการใช้พลังงานในการใช้เครื่องปรับอากาศ การซักทำความสะอาด การทำซ่ำ และการใช้น้ำ เป็นต้น โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 สรุปยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียนฉลากทั้ง 3 ประเภทมีดังนี้ 1.โครงการจัดทำการขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอน Carbon Reduction Label มีทั้งหมด 110 ผลิตภัณฑ์ จาก 25 บริษัท อาทิ ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, ล่ำสูง ประเทศไทย จำกัด (มหาชน), ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 2.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มีทั้งหมด 196 ผลิตภัณฑ์ จาก 52 บริษัท อาทิ ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน), ทองไทย การทอ จำกัด, ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, เพรสซิเดนท์ไรซ์โปรดัก จำกัด (มหาชน), ทิปโก้ฟูดส์ ประเทศไทย จำกัด มหาชน ฉลาก CoolMode มีทั้งหมด 6 บริษัท 15 โครงสร้างผ้า อาทิ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน), หจก. ศาลายาดีไซน์, บริษัท วิชั่นเท็กซ์ จำกัด, บริษัท ไอ.ดี. นิตติ้ง จำกัด, บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าบริษัทที่จดทะเบียนและเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีการทำธุรกิจ การค้ากับต่างประเทศ  ฝรั่งเศสดัน ‘ฉลาดคาร์บอน’ บังคับใช้               ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อกำหนด หรือนโยบายบังคับใช้ในการติดฉลากคาร์บอน แต่ในหลายประเทศต่างขานรับแนวคิด และดำเนินการตามนโยบายติดฉลากคาร์บอนในแบรนด์สินค้าของตนเองด้วยความสมัครใจ โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มมีการพิจารณา ดำเนินการ และผลักดันให้เกิดข้อบังคับใช้ตามกฎหมายแก่ผู้ผลิตให้แสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคทราบ ส่วนด้านผู้บริโภคในหลายประเทศเชื่อว่าการสนับสนุนสินค้าให้ติดฉลากคาร์บอนจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน "ผู้นำเข้าสินค้าบางประเทศต้องการให้คู่ค้าคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยแสดงข้อมูลเป็นตัวเลขก่อนนำเข้า เช่น หน่อไม้ฝรั่งที่ส่งออกไปขายยังประเทศอังกฤษ ลูกค้าบางรายกำหนดให้ผ่านมาตรฐาน LEAF (Linking Environment And Farm) และติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น” นักธุรกิจไทยขานรับเทรนลดโลกร้อน ดร.รัตนาวรรณ บอกต่อว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการชาวไทยในหลายอุตสาหกรรมได้ให้ความสนใจ และมีการเข้าร่วมโครงการทำฉลากคาร์บอนใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, วัสดุก่อสร้าง, ภาชนะบรรจุ, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และตลาดส่งออกในอนาคต แม้ผู้บริโภคชาวไทยจะยังไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือรู้จักก็ตาม ส่วนอุปสรรคในการดำเนินการในการทำฉลากคาร์บอน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ดำเนินการนั้นอาจเนื่องจากข้อจำกัดด้านความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานระดับประเทศและของต่างประเทศ ความยุ่งยากในการรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งยังไม่มีการร้องขอจากลูกค้า หรือผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามภาครัฐของไทยได้ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการทำฉลากคาร์บอน โดยให้องค์ความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานระดับประเทศ และต่างประเทศ พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลวัตรจักรชีวิตที่ใช้ในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งยังทำความตกลงกับต่างประเทศให้มีการยอมรับระบบฉลกาคาร์บอนของประเทศไทยอีกด้วย “ในอนาคตจะมีหลายภาคส่วนให้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย และสังคมโลกมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ และการบริโภคที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะว่าทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน”  หวั่นไม่ติดฉลากคาร์บอนถูกถอนออเดอร์  ด้าน พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรง เป็นที่สนใจแก่ภาคการส่งออก และผู้บริโภคเป็นอย่างมาก หากผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไม่สนใจ หรือให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ ติดฉลากคาร์บอน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ ก็จะทำให้โอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศน้อยลง และถูกคู่แข่งรายอื่นแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นตัวส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย อาทิ ไก่แช่แข็ง, กุ้งแช่แข็ง ฯลฯ “รูปแบบการติดฉลากคาร์บอนจะมีความแตกต่างกันในการสื่อสารของแต่ละประเทศ แต่เป็นการบ่งบอกถึงความใส่ใจ และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องนี้ อาทิ มีบริษัทขาดใหญ่บางแห่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ” อีกทั้งการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และมีแนวโน้มมีความต้องการสูงในอนาคต โดยมีขั้นตอนเบื้องต้นดังนี้ 1.ต้องมีที่ปรึกษาในการดำเนินงาน วิเคราะห์ข้อมูล ตัวเลข มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-2 แสนบาทต่อผลิตภัณฑ์ หรือจะฝึกพนักงานในบริษัทดำเนินการแทนก็ได้ 2.การยืนตรวจข้อมูล จะมีผู้เข้าตรวจข้อมูล ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 36,000 บาท 3.ค่าขอใช้ฉลาก จะมีค่าธรรมเนียม กับค่ามอนิเตอร์ สามารถใช้ได้ 2 ปี ค่าใช้จ่ายหลังปี 54 ประมาณ 8,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีรายละเอียดและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันแต่ละฉลากอีกที              

   สำหรับฉลากคาร์บอนที่กำลังมาแรง และเป็นที่สนใจในหลายประเทศมีด้วยกัน 3 ฉลากดังนี้ 1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นฉลากที่บอกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่ยุ่งยาก 2.วอลเตอร์ฟุตพริ้นท์ เป็นฉลากที่บอกปริมาณการใช้น้ำ 3. ฉลากที่บอกแหล่งวัตถุดิบ และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร อุตฯอาหารเร่งติดฉลากคาร์บอน เกาะกระแสผู้บริโภคยุโรป  ขณะที่ ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยดำเนินการติดฉลากคาร์บอนในผลิตภัณฑ์แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฎ ขอบังคับของภาครัฐก็ตาม คาดว่าเป็นการเตรียมการขานรับเทรนความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และคู่ค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป อีกทั้งยังเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองการณ์ไกลในการให้ความสำคัญ และคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อย่างไรก็ดีการติดฉลากคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่หัวใจสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลัก แต่หัวใจหลักอยู่ที่ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยฉลากเป็นการบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ปล่อยคาร์บอนเท่าไร ใช้น้ำเท่าไร ฯลฯ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งเมื่อผู้ผลิตทราบว่าผลิตภัณฑ์ของตนปล่อยก๊าซ หรือใช้ทรัพยากรมากในกระบวนการไหน ก็จะสามารถเข้าแก้ปัญหา ลดการใช้ทรัพยากรได้ตรงจุด เป็นต้น “ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่ติดฉลากคาร์บอน ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจ เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง มีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ก็จะหันมาให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม อย่างประเทศฝรั่งเศสกำลังพยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอน” ดร.ปิยะนุช กล่าว

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ (Carbon footprint of Product)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ”โครงการส่งเสริมคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product)” ขึ้น ในวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 ณ ห้องอินทรานิลชั้น 3 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอร์คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน

คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีนโยบายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศ และความสำคัญดังกล่าวนี้บริษัทในเครือสหพัฒน์ได้เห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าวจึงตอบรับเข้าร่วมโครงการเป็นโรงงานนำร่องทั้งสิ้น จำนวน 10ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะขยายให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป
“งานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการในวันนี้ จะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลลัพธ์โดยรวมของโครงการจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกำหนดเป้าหมายในการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดและส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
ด้านนายชูโต จิระคุณากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด  กล่าวว่า ตามที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการในฐานะที่เป็นโรงงานนำร่องนั้น บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ภายในเครือสหพัฒน์ ให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถกำหนดเป้าหมายในการใช้พลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทในเครือให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

โครงการเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint® Calculator”

หลักการและเหตุผล 
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ด้วยฉลากคาร์บอน (Carbon labeling) ซึ่งแสดงออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการใช้พลังงานค่อนข้างสูงทั้งในการผลิตและบริโภค อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของผู้บริโภคทุกคน จึงควรส่งเสริมให้วิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์และติดฉลากคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
การพัฒนาโครงการเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ “FOODprint®” สามารถรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากกิจกรรมการผลิตของบริษัทผู้ดำเนินการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และจัดหาข้อมูลทุติยภูมิที่ใช้ในการสนับสนุนการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนสูตรคำนวณสำเร็จรูปในตารางแผ่นคำนวณ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงมือปฏิบัติคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์ 
  • พัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint®” เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงมือปฏิบัติคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  • ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร “FOODprint®” ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกำหนดเป้าหมายในการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างศักยภาพทางเทคนิคให้กับบุคลากรอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทย ให้มีความรู้และสามารถดำเนินการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เอง อันเป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอน
กลุ่มเป้าหมาย 
บริษัทผู้แปรรูป บริษัทผู้จำหน่ายวัตถุดิบ หรือ บริษัทผู้จำหน่ายภาชนะบรรจุ สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และเพาะเลี้ยง โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกโรงงานสาธิต ดังนี้
  • ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ตัวอย่างต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
  • ความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมดำเนินการคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอน
  • นโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  • ความพร้อมของระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการใช้ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • ความร่วมมือจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบและภาชนะบรรจุใช้ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์
  • ประสบการณ์ด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การตรวจวัดพลังงาน หรืออื่นๆ
ประโยชน์ที่บริษัทโครงการสาธิตจะได้รับ 
  1. บุคลากรของบริษัทโครงการสาธิต มีองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทโครงการสาธิตในความเป็นผู้นำด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการร่วมเป็นบริษัทโครงการสาธิต
  2. บริษัทโครงการสาธิต สามารถใช้ผลการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ สามารถใช้ผลการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในการกำหนดเป้าหมายในการจัดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง จำแนกขั้นตอนและกิจกกรมที่ควรปรับปรุง
  3. บริษัทโครงการสาธิต มีข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เบื้องต้นสำหรับตัดสินใจดำเนินการขอรับรองผลและขึ้นทะเบียนติดฉลากคาร์บอน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 
15 มกราคม 2554 – 15 มิถุนายน 2556
ผู้ดำเนินการโครงการ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ผู้รับผิดชอบโครงการ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย